ปีแรกของฉัน วันที่ ไปเรียนต่อต่างประเทศ
ฉันทำงานในตำแหน่งสถาปนิกที่เบอร์ลิน ตอนนี้ก็เกือบสิบปีแล้ว
แต่ชีวิตในเยอรมนีของฉันได้เริ่มต้นจากการมาเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Master of Architecture) ที่เมือง Dessau (เดซเซา) แคว้น Sachsen-Anhalt (ซัคเซิน-อันฮัลท์) เมื่อปี 2010
ตื่นเต้น ประหม่า และเคว้งคว้าง
จุดประสงค์ของการเรียนปริญญาใบที่สองนี้ นอกจากต้องการองค์ความรู้ของงานสถาปัตยกรรมในระดับสากลแล้ว อีกเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างยิ่งนั่นคือ การได้ใช้และเรียนรู้ชีวิตในแบบที่เราเลือกเอง ดังนั้น การหาข้อมูลด้านการเรียน ติดต่อสถานทูต เลือกสายการบิน กำหนดการเดินทาง รวมทั้งไปลงเรียนภาษาเยอรมันระดับพื้นฐาน (A1) ที่สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut Bangkok) ฉันได้เตรียมตัว จัดการ วางแผนเองทั้งหมด แม้จะตื่นเต้น ประหม่าและวูบวาบในท้องกับการจากเมืองไทย แต่เมื่อมาถึงเยอรมนีในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแล้วนั้น ฉันรู้ได้เลยทันทีว่า จะต้องเป็นอีกสองปีที่เยี่ยมยอดแน่ๆ แต่ก็ร่าเริงกับภูมิทัศน์เมืองหนาวได้ไม่นาน เพราะคุณภาพของความเป็นอยู่นั้นไม่ได้สะดวกสบายที่เคยได้รับจากบ้านเกิดเมืองนอน ฉันเริ่มเศร้า เริ่มงง และเคว้งคว้าง
ตอนนั้นมีรุ่นพี่และเพื่อนคนไทยที่เรียนที่นั่นอยู่ก่อน ทั้งสองคนมีน้ำใจและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ฉันไปถึงเมืองเดซเซาโดยไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง หอนักเรียนของมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีที่ว่างทั้งปี แต่ก็ได้เพื่อนคนไทยที่เพิ่งรู้จักกันนี่แหละค่ะ ให้ยืมห้องพัก จัดหาที่นอนในตอนที่มาถึง
งอแง และ สิ่งที่ต้องทำ
ทุกวันเป็นการเรียนรู้ใหม่ ทั้งการปรับตัวกับเวลาที่ต่างจากประเทศไทย 6 ชั่วโมง การหัดทำอาหารด้วยหม้อ กะทะที่ไม่เหมือนเมืองไทย การหุงข้าวโดยไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่แค่ใส่น้ำแล้วกดปุ่ม จากที่เคยซื้อกาแฟกินทุกเช้าต้องเปลี่ยนมาต้มน้ำ ตวงเมล็ดเอง อาหารจืดชืด เย็นและแข็ง ฉันทำใจกินน้ำก๊อกไม่ได้ นี่ฉันมาเรียนหรือมาฝึกทำกับข้าว? ทำไมกุญแจในเยอรมนีมีหลายดอก การแต่งตัวในวันที่อากาศติดลบทำยังไง สารพัดการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนเปลี่ยนหน้า ประดังประเด ดาหน้ามาให้พบ
ทุกค่ำคืนการนอนให้หลับเป็นเรื่องยาก ยามเช้าตื่นมาด้วยความหนาวเหน็บ เจ็บมือ เจ็บเท้า หู นิ้ว แดงจากไอเย็นจนหยิบอะไรไม่ได้แม้ใส่ถุงมือ เมื่ออึดอัดมากๆ เข้าก็อยากร้องไห้ แต่น้ำตากลับไม่ไหลออกมาเลยสักหยด ฉันไม่รู้ว่ามันคือความเศร้า การคิดถึงบ้าน หรือทำใจกับความลำบากลำบนไม่ได้กันแน่ แต่เมื่อมาถึงแล้ว การคร่ำครวญงอแงกับเรื่องภายนอกพวกนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ คือ
- หาที่พัก
- รายงานตัวเข้าระบบของเมือง หรือ Anmeldung
- เปิดบัญชี
- การทำวีซ่า
ทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ที่ชาวต่างชาติ ต้องทำ เมื่อมาพักอาศัยระยะยาวในเยอรมนี
ไม่ปรานี แต่ก็มี สิ่งที่ต้องทำ
แม้มีเพื่อนและพี่ชาวไทยคอยชี้แนะ แต่อย่างไรเสีย การใช้ชีวิตในต่างแดนนั้น ฉันคิดว่าอุตส่าห์ได้มาถึงอีกฝั่งหนึ่งของโลก สิบเอ็ด-สิบสองชั่วโมงบินจากประเทศไทยแล้ว ก็ควรพึ่งพาและหัดทำอะไรด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด การมาต่างประเทศครั้งนี้ ฉันมีความตั้งใจอยากเป็น “ฉัน-ในร่างที่ดีขึ้น” อยากออกมาจากการมีชีวิตบนคำแนะนำของคนอื่น แต่ทว่า หนทาง “การเริ่ม” ในบริบทใหม่อย่างเยอรมนีนั้นไม่ปรานีกันเลยสักนิด
ฉันไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่ชื่อว่า Penny ตื่นตาตื่นใจไปกับของข้าวของใช้ อาหาร ผักผลไม้ของยุโรป หยิบโค้กกระป๋องไปที่แคชเชียร์ จ่ายเงินด้วยเหรียญ 1 ยูโรตามราคาบนป้าย การซื้อของครั้งแรกที่เยอรมนีผ่านไปได้ไม่ดีนัก เพราะคุณพนักงานไม่ยอมรับเงิน ชี้มือชี้ไม้และพูดอะไรสักอย่างยาวๆ ที่ฉันไม่เข้าใจ
อันที่จริงแล้ว เครื่องดื่มในเยอรมนีเกือบทุกชนิดนั้นมี “ค่าขวด” หรือภาษาเยอรมันเรียกว่า Pfand ราคา 1 เซ็นต์บ้าง 15 หรือ 25 เซ็นต์แล้วแต่ประเภท เหตุการณ์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจบลงด้วยการที่ฉันยื่นแบงค์สิบยูโรสำหรับโค้กกระป๋องราคาสุทธิ 1ยูโร 25 เซ็นต์ (ราว 40 บาท) ซึ่งเป็นราคาของสินค้า (1 ยูโร) รวมกับค่าขวด (25 เซ็นต์) นั่นเอง
การได้เรียน “จากประสบการณ์จริง” ในครั้งนั้นทำให้ฉันเริ่มมองเห็นปัญหาแล้วล่ะว่า ความรู้ขั้นพื้นฐาน A1 นั้นคงไม่ช่วยแน่ๆ และเราจะอยู่ที่นี่รอดหรือเปล่านะ หากไม่สามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดีพอ?
บ้าน
จนถึงอาทิตย์ที่สาม ฉันก็หาอะพาร์ทเม้นต์ได้จากเอเจนซี่หนึ่งได้ในที่สุด อาคารทรงสี่เหลี่ยมเทอะทะ หน้าตาอึมครึมนั้นอยู่ห่างจากโรงเรียนด้วยการเดินประมาณ 15 นาที ห้องแบบ studio ขนาด 25 ตารางเมตร มีครัวเล็กๆ และห้องน้ำในตัว
โชคดีที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ การพูดคุยและทำสัญญาจึงไม่ยากนัก แม้เป็นห้องเก่าๆ ที่มีเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงและฟูกที่นอน เตาแก๊ส อ่างล้างจานที่ปราศจากสุนทรีย์ของการตกแต่งอยู่บ้าง แต่อย่างน้อย สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฉันมีที่อยู่เป็นของตัวเองแล้ว!
รายงานตัว
สิ่งที่ “ต้องทำ” ต่อมาคือการรายงานตัวเพื่อเข้าระบบของเมือง หรือที่เรียกว่า Anmeldung ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเราอาศัยอยู่ที่นี่ ฉันเอาสัญญาเช่าบ้านไปรายงานตัวที่ Rathaus หรือศาลากลาง (city hall) เป็นครั้งแรกที่ต้องใช้ภาษาเยอรมัน “เท่าที่มีติดตัว”ในการสื่อสาร แน่นอนว่าฉันไม่เข้าใจทั้งหมด พูดผิด พูดงง พูดตะกุกตะกัก แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือจนการ Anmeldung สำเร็จด้วยดี
เปิดบัญชี
หลังจากนั้น ฉันนำเอกสารรายงานตัวใบนั้นมาเปิดบัญชี โดยเลือกธนาคาร Deutsche Bank ตามคำแนะนำของรุ่นพี่คนไทยที่นั่น ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ขั้นตอนการเปิดบัญชีไม่ยากอะไรค่ะ แต่เวลาทำการของธนาคารนั้นค่อนข้างจำกัดและไม่ได้เปิดให้บริการทุกวัน
ตามข้อกฎหมายของเยอรมนีแล้ว การเป็นนักเรียนต่างชาติที่ไม่ได้มาจากยุโรป (non EU และ non EEA) คือต้องเปิดบัญชีแบบพิเศษที่เรียกว่า blocked account (Sperrkonto) ซึ่งเป็นการแสดงหลักฐานทางการเงินว่า เรามีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตตลอดการเรียนได้ ตัวเลขในบัญชีนั้นมีมาตารฐานต่างกันไปในแต่ละเมืองนะคะ ถ้าเป็นที่มีค่าครองชีพสูง จำนวนเงินที่นักเรียนต้องมีก็จะสูงตาม และในแต่เดือน เราสามารถถอนเงินได้ในวงเงินที่จำกัด
ไม่กี่วันต่อมา จดหมายของ Deutsche Bank ถูกส่งมาตามที่อยู่ใหม่ ทั้งบัตร atm โค้ดสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ และใช้เวลาอยู่หลายอาทิตย์กว่าบัญชีของฉันจะเสร็จสมบูรณ์
วีซ่า
การเดินทางเข้าเยอรมนีในฐานะนักเรียนนั้น ฉันมีเวลา 90 วันในการปรับสถานะบัตรประจำตัวผู้พักนำให้เป็นระยะยาวตามจุดประสงค์ของการมาศึกษา ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเป็นสมาชิกใหม่ในเมือง สิ่งที่ฉันต้องเตรียมในการเปลี่ยนวีซ่าคือ จดหมายการตอบรับจากโรงเรียน บัตรประกันสุขภาพที่เยอรมนีรองรับ สัญญาเช่าบ้าน เอกสารรายงานตัว (Anmeldung) และบัญชีธนาคาร (blocked account)
จากประสบการณ์ของฉัน การทำวีซ่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะถ้าเรามีคุณสมบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเภทวีซ่า มีเอกสารแสดงหลักฐานอย่างชัดเจน และไม่มีข้อใดให้ทางการสงสัย อย่างไรแล้วเราก็จะได้รับวีซ่าแน่นอน
ในวันที่ไปเปลี่ยนสถานะวีซ่า เอกสารพร้อม กำลังใจพร้อมก็จริง แต่การติดต่อทั้งหมดต้องใช้ภาษาเยอรมันเท่านั้น เจ้าหน้าที่ได้อธิบายและเอาตารางให้ฉันดูว่า การคำนวณระยะเวลาวีซ่าเป็นอย่างไร สมมติว่ามีเงินใน blocked account จำนวน 10,000 ยูโร เราก็จะได้รับวีซ่า 1 ปี ถ้ามีเงินมากหรือน้อยกว่านั้น ระยะเวลาวีซ่าก็จะแตกต่างกันไป
ฉันพยายามพูดเยอรมัน “ที่มีติดตัว”ให้ดีที่สุด บางทีก็ใช้ภาษาอังกฤษบ้างเพราะหัวข้อการติดต่อราชการนั้นเกินความรู้พื้นฐานที่มีไปเยอะ แม้ต้องเจอกับอุปสรรคเรื่องภาษา แต่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ใจดีและมีเมตตาอย่างยิ่ง ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ฉันได้วีซ่านักเรียน 1 ปี ซึ่งระยะเวลานี้เป็นไปตาม “จำนวนเงิน” ในบัญชีที่มีในขณะนั้น นั่นแปลว่า สำหรับการเรียนหลักสูตรสองปี ฉันจะต้องหาเงินมาใส่ในบัญชีและไปต่อวีซ่าอีกครั้งในปีถัดไป
ในช่วงนั้นฉันลืมความเศร้า ความเทาๆ ในใจที่มีในตอนแรกไปเลยนะ เพราะทั้งการย้ายเข้าห้องพักใหม่ การซื้อของใช้ในบ้าน ซื้ออาหาร รวมทั้งเอกสารจากธนาคาร รวมทั้งเอเจนซี่บ้านที่ได้รับ เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นการฝึกทักษะการวางแผน การหาข้อมูล รวมทั้งการบริหารที่ดีมาก และเมื่อปัจจัยเบื้องต้นเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ฉันยังมีอีกระบบและบทบาทใหม่ที่ต้องดูแล คือ การเป็นนักเรียนในต่างแดน
เรียนต่อในเมืองเล็กๆ
เดซเซาเป็นเมืองเล็กๆ ในเยอรมันตะวันออก ตัวเลือก ความหลากหลายและการเข้าถึงความสะดวกสบายจึงมีไม่มากนัก แม้เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัย Hochschule Anhalt หรือ Anhalt Universityof Apllied Sciences แต่เมื่อสิบปีก่อน นักเรียนและชาวต่างชาติยังมีจำนวนไม่เยอะมากเท่าปัจจุบันนี้
การเรียนไม่ใช่เรื่องที่ฉันกังวล ฉันมีจุดมุ่งหมายเดียวคือการตั้งใจเรียน การสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ฉะนั้นการปรับตัวกับชั้นเรียนใหม่ เพื่อนนักเรียนที่มาจากทั่วทุกมุมโลกนั้นค่อนข้างสบายๆ ชีวิตประจำวันก็แค่ไปเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือเท่านั้น
นอกจากการเรียน เมื่อมาเรียนต่อ
แต่สิ่งที่ยากคือ ชีวิตในเยอรมนีที่มีเรื่อง มีราวให้ฉันต้องแก้ไข ต้องดิ้นรนอย่างต่อเนื่อง อย่างการลืมกุญแจไว้ในห้องพักและต้องตามช่างมางัดห้อง การติดตั้งอินเตอร์เน็ต บิลค่าไฟ ค่าน้ำที่ไม่รู้ว่าต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อนบ้านเปิดเพลงเสียงดังลั่นตอนตีสองทุกคืน การสำรองอาหารในวันหยุดยาวที่ซูเปอร์มาร์เก็ตปิดต่อเนื่องกัน 5 วันในช่วงปีใหม่ การหาที่พักที่ดีและสะดวกขึ้นกว่าเดิม การโทรศัพท์เรียกแท็กซี่ แล็ปท็อปพังแล้วหาร้านซ่อมในเมืองไม่ได้ การยกเลิกสัญญาบ้านที่ต้องใช้ภาษาเยอรมันด้วยตัวเองทั้งหมด การเห็นหิมะหนาๆ เป็นครั้งแรก การได้กินอาหารเยอรมันแท้ๆ อย่างขาหมูสไตล์ตะวันตก (Schweinshaxe) และไวน์อุ่นผสมเครื่องเทศ (Glühwein) ที่ตลาดคริสมาสต์ (Weihnachtsmarkt)
นี่เป็นเรื่องเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ฉันได้เจอในปีแรกที่มาถึงเมืองเดซเซา
ถึงจะอลหม่าน-อลเวง แต่มันเป็นความสนุกที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ทำความรู้จักกับข้อจำกัดของการใช้ภาษาที่สาม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่มีผู้ปกครองมาช่วย ฉันได้ฝึกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองและอยู่กับผลลัพท์ทั้งดีและแย่ที่ตามมา แม้เจ้าบ้านใหม่อย่างเยอรมนีอาจจะไม่ใจดีเท่าไหร่นัก แต่เมื่อฉันได้คิดย้อนไปถึงวันนั้นจนถึงวันนี้ ฉันได้เป็น “ฉัน-ในร่างที่ดีขึ้น” สมความตั้งใจแล้ว.
6 thoughts on “Germany and my year one : ที่เยอรมนี ในปีแรก”