Equinox : วันที่ความฝันอยู่เคียงข้างกันกับโลกใหม่ ตอนที่ 2
บทที่ 3 : ความฝัน
สถาปนิกผู้มอดไหม้
เมื่อความฝันกลายเป็นความจริงนั้น ใครเลยจะรู้ว่ามันหนัก เหนื่อย ล้า และน่าน้อยใจอย่างยิ่ง
ความเครียด ความคาดหวัง กลับบ้านมืดค่ำ กระทั่งการทำงานเดือนละ 27 วันนั้นเป็นเรื่องที่ได้พบตลอดหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งสถาปนิกที่บริษัทออกแบบงานแลนด์สเคปตลอดเกือบ 4 ปี
ที่คิดว่าอยากออกแบบ อยากสร้างบ้านเหมือนที่เคยฝันหวานในวันวานนั้นมีจริงเสียที่ไหน ทุกอย่างคือการเรียนรู้ใหม่ มีเรื่องลึกลับในมุมอับของอาชีพที่ไม่รู้จักจำนวนมาก มีแต่เรื่องยาก ไม่สดใส หรือมีสีสันอย่างที่เข้าใจ มันไม่สนุกก็จริง แต่จะให้หยุดชีวิตที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความฝันนั้นมาตั้งแต่วัย 12 ปี แค่เพียงเท่านี้คงไม่ใช่ทางเลือกที่ยอมรับได้เท่าไหร่นัก ฉันมุทะลุ มุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้ได้ดีที่สุด และแล้ว สุขภาพ การรับรู้เริ่มซีดจางและอ่อนล้า หลายครั้งที่คิดว่า เราดันทุรังกับสิ่งที่ไม่มีคุณค่าหรือเปล่า?
ในเดือนปีที่แสนซบเซา และในวันที่ความเงียบเหงาพาเราดำดิ่งสู่ความเวิ้งว้าง ที่สุดทางก่อนจะหมดสิ้นซึ่งความสร้างสรรค์กลับนำพาให้ได้พบกับสิ่งหนึ่ง มันคงเป็นเสียงข้างในจากหัวใจ ฉันเชื่ออย่างนั้น เสียงที่บอกว่าถึงเวลาแล้ว ที่ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเริ่มบทถัดไปของชีวิต ฉันอยากมีสปิริตใหม่ มีอะไรก็ได้ที่อัปเกรดแล้วทำให้ฉันเป็นเวอร์ชันที่ดีขึ้น หากแต่ว่ากับบริบทเดิมกับผู้คนที่รู้จักในวิถีที่คุ้นเคย เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างร่างใหม่ ต้องไปให้ไกล ออกไปให้พ้นสิถูกไหม ถึงจะได้เจอ
โชคดีแต่ต้องมีแผน
อย่างที่บอก ฉันเป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ครอบครัวนั้นส่งเสริมให้ได้สัมผัสกับชีวิตในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ซึ่งคงไม่มีใครเคยคิดหรอกว่า “โอกาส” เหล่านั้นนั่นแหละ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล ลุกลามมาเป็นการเปลี่ยนถิ่นฐานของฉันอย่างถาวร แต่การเก็บกระเป๋าไปสนามบินในครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างเช่นคราวก่อน จะไปที่ไหน ไปทำอะไร ไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือเพื่อจุดประสงค์อย่างไรนั้นต้องตอบตัวเองให้ชัด เพราะนี่คือการเดิมพันครั้งใหญ่ที่หากพลาดไป ผลที่ตามมานั้นน่าจะเลวร้ายกว่าการสอบเอ็นทรานซ์ไม่ผ่านแน่ๆ
สิงคโปร์
ไปทำงานที่สิงคโปร์ดีไหม?
ใกล้ๆ ประเทศไทย แหล่งสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ของทั้งอาคาร สิ่งก่อสร้างและงานภูมิทัศน์ เพื่อน-พี่คนไทยก็เยอะอยู่ คงไม่ลำบากอะไร ใครๆ ที่นั่นก็น่าจะช่วยเหลือกันได้ล่ะนะหากมีปัญหา เอ้า! เดี๋ยวก่อน แล้ววจะต่างอะไรกับการทำงานในไทยสักแค่ไหนกันล่ะนั่น ไปทำงานที่สิงคโปร์ไม่ใช่ล่ะมั้ง ลองหาทางอื่นดีกว่า
ถ้าไม่ไปทำงาน ก็ไปเรียน
ฉันเริ่มตะล่อมความคิด ไปเรียนวิชาของอาชีพสถาปนิกนี่แหละ ใครๆ ก็ต้องเห็นด้วย ในยุคที่รอบโลกนั้นไม่ใกล้ไม่ไกลกัน การศึกษาเป็นการลงทุนที่ง่ายและมีประสิทธิภาพหากอยากไปต่างประเทศ ฉันสรุปเอาดื้อๆ
อังกฤษ
เป็นประเทศแรกที่นึกถึง นอกจากเป็นได้รับนิยมของนักเรียนชาวไทยแล้ว เกาะใหญ่กลางทะเลในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ ยังเป็นที่ ที่ฉันชื่นชอบส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ฉันอยากกลับไปที่นั่นอีกครั้ง แม่น้ำเทมส์ (Thames River) มันฝรั่งบด (mashed potatoes) ปลาทอด (fish and chips) ยังคงคิดถึงกัน ฉันจำได้ทั้งสายฝน และสีเทาอุ่นบนท้องฟ้าของสหราชอาณาจักร
ถ้าจะเรียนดีไซน์หรือศิลปะ ก็ต้อง Bartlett (Bartlett School of Architecture – UCL: University College London) หรือ AA (Architectural Association School of Architecture) ที่กรุงลอนดอน สองสถาบันที่ดีที่สุด มีชื่อเสียงระดับโลกที่นักเรียนจำนวนมากใฝ่ฝันจะเข้าสู่รั้วการศึกษา
แต่นั่นหมายความว่าจะต้องแข่งขันกับผู้สมัครอีกหลายร้อย หรือพันคน ฉันต้องเก่งสักแค่ไหน ต้องโดดเด่นน่าสนใจเพียงใด ถึงจะมีโอกาสผ่านเข้าไปเรียนที่นั่นได้อย่างที่ต้องการ ความอุตสาหะ ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ อาจทำให้สมหวัง แต่ค่าเล่าเรียนปีละหลักล้าน ฉันว่ามันหนักหนาเกินไปที่จะให้ที่บ้านมาช่วยเหลือ นี่ยังไม่รวมที่พัก ตั๋วเรือบิน อาหารการกินและจิปาะถะ ฉันจึงตัดสินใจทันทีเลยว่า ประเทศอังกฤษนั้นหมดสิทธิ์ และต้องมองหาสถานที่เลือกอื่น
ปารีส
เมืองแห่งความฝันที่ฉันหลงรักเพียงแรกเห็น ดูเหมือนว่าไม่น่าแพงเท่าตัวเลือกก่อนหน้านี้ มีโรงเรียน วิชา หลักสูตรที่น่าหาความรู้อยู่หลายที่ แต่เห็นทีคงจะไม่ได้อีกล่ะมั้ง อุปสรรคแห่งความรักคือภาษาที่ขัดขวาง ฉันรู้ฝรั่งเศสไม่กี่สิบคำ ไม่เกินสิบประโยคเท่านั้น จะให้ไปเรียนภาษา เพื่อไปเรียนวิชาสถาปัตย์ฯ สำหรับชีวิตในต่างประเทศน่ะเหรอ ไม่เอาหรอก!
ซูริก
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องแพงแน่ๆ
แต่หลังจากได้ยินข่าวจากรุ่นน้องที่เรียนอยู่ที่ ETH (Eidgenössische Technische Hochschule Zürich)ในสาขาคล้ายคลึงกันทำให้ฉันคิดว่า บางที อาจจะเป็นที่นี่ที่เรามองหา วิชาดีเยี่ยม ค่าเทอมพอไหว สี่ภาคการศึกษาก็สามพันยูโร รวมรายจ่ายที่พักและอาหารจำนวนสองปีก็น่าจะสักแปดแสนและไม่แตะเลขล้าน
หลักสูตรเป็นการเรียนสองภาษา อังกฤษนิด เยอรมันหน่อย ฉันว่า เออมันก็น่าจะได้ แต่เมื่อค้นคว้ามากขึ้น และสอบถามจากรุ่นน้องคนเดิม ถึงได้รับทราบว่าภาษาอังกฤษนั้นแทบไม่ได้ใช้ ภาษาเยอรมันต่างหากคือสัดส่วนใหญ่ในการเรียนและการใช้ชีวิต ฉันปิดหน้าหลักสูตรในเว็บไซต์ของทุกโรงเรียนลงอย่างเสียดาย หรือจะไปนิวซีแลนด์แดนแกะที่ฉันรู้จักดีล่ะนี่?
เอาล่ะ ขอพัก ขอทบทวนดูก่อน สิงคโปร์ ลอนดอน ปารีส และซูริกให้ลืมไปซะ
หลังจากค้นคว้าทางอินเตอร์เนทอย่างเข้มข้นเกือบสามเดือน สต็อกโฮล์ม ออสโล รวมทั้ง เฮลซิงกิ ตัดทิ้งไปเช่นกัน เพราะไม่ผ่านเกณฑ์การไปเรียนต่อในต่างประเทศที่ฉันตั้งไว้สามข้อ
- เป็นวิชาที่สนใจ
- ไม่แพงจนเกินไป และ
- ต้องใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น
เสียงข้างในจิตใจ
การเลือกที่เรียนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ไม่เพียงแค่กับคนรอบข้าง หากแต่กับตัวเราเองด้วยว่าอยากทำสิ่งไหน คุยกับตัวเองให้ดี พิจารณาให้ชัดบนพื้นฐานของความเป็นไปได้
- เริ่มต้นจากต้องการอะไร
- ที่ไหนสามารถเติมเต็มจุดประสงค์เราได้ ถัดมาคือ
- ต้องใช้อะไรในการก้าวไปข้างหน้า ภาษา ประเภทวีซ่า ค่าใช้จ่าย
- ควรกำหนดช่วงเวลาไว้บ้างว่า จะทำอะไร แค่ไหน ถึงเมื่อไหร่
- หากไม่สำเร็จตามนั้นจะพอ หรือสู้ต่อด้วยกลยุทธ์อื่น
รุ่นน้องคนเดิมบอกให้ฉันไปคุยกับรุ่นพี่อีกท่านหนึ่งที่กำลังเรียนปริญญาโทเทอมสุดท้ายที่รัฐทือริงเงิน (Thüringen) ประเทศเยอรมนี ฉันได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่าให้ศึกษาสถาบันที่เดซเซา (Dessau) เมืองเล็กๆ ติดกับแม่น้ำ Elbe ในแคว้นซัคเซิค อันฮัลท์ (Sachsen-Anhalt) ของเยอรมันตะวันออก ที่มีสถาบันเปิดสอนวิชาสถาปัตย์อย่างที่ฉันสนใจ และใช้ภาษาอังกฤษ 100%
ฉันอ่านข้อมูลของโรงเรียนอย่างละเอียด
- ภาษาอังกฤษ ได้แล้วข้อหนึ่ง
- วิชาที่น่าสนใจ ใช่แล้วอีกสอง
เอาล่ะ…แล้วราคาค่าเรียน ฉันหลับตาข้างหนึ่งเพ่งมอง ผ่อนลมหายใจผ่านปากจนหมดท้อง ฉันร้องเฮ้อเสียงดัง
- หลักสูตรทั้งสี่เทอมราวสองพันยูโร (ข้อมูลปี 2010)
โอ้ย สิ้นสุดกันเสียที โรงเรียนที่เยอรมนีนี่แหละนะ ที่ตอบรับ “เสียงข้างในจิตใจ”
บทที่ 4 : ความจริง
โลกใหม่? พร้อม / ไม่พร้อม
ฉันได้รับจดหมายตอบรับจากโรงเรียนที่เมืองเดซเซา (Dessau) ผ่านทางอีเมลในค่ำวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2010
กำหนดการการเดินทางคือวันที่ 9 กันยายน ด้วยสายการบินแอร์เบอร์ลิน ตอนนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ฉุกละหุก และตื่นเต้น หากแต่มีหลายครั้งที่เศร้าใจเหลือเกินที่จะต้องจากบ้านไปไกลต่างทวีป หากเป็นเมื่อก่อนตอนอายุน้อยๆ ฉันคงเก็บกระเป๋า พับเสื้อผ้าด้วยความลิงโลดและไม่ต้องเป็นห่วงอะไร
ฉันเปิดตู้หาเสื้อกันหนาว ถุงเท้า ผ้าพันคอวินเทจที่เคยเป็นของแม่และป้าเพื่อนำติดตัวไปด้วย แม่คอยถามอยู่เป็นระยะว่าต้องการอะไรอีกบ้างจะได้ช่วยหามาให้สำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ การจดลิสต์ของสำคัญ ของจิปาถะ อาหาร เสื้อผ้า ต้องมีสมาธิมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากต้องวางแผนอย่างดีแล้ว ยังต้องคอยหยุดพัก สูดลมหายใจเป็นระยะเพื่อไม่ให้ร้องไห้ออกมาในระหว่างเก็บของ
ทำไมถึงรู้สึกเศร้าและใจเบาหวิวได้ขนาดนี้?
แค่สองปี ไม่นานเท่าไหร่ กลับมาแล้วเมืองไทยก็ยังเป็นเหมือนเก่า เป็นเมืองเกิด เป็นที่อาศัย เป็นที่ที่ยังคงมีความหมายไม่ใช่สถานที่แปลกหน้า แต่ความหม่นหมองละอองมวลความเซื่องซึมเหล่านั้นก็อยู่รบกวนกันได้ไม่นาน เมื่อฉันยังไม่ได้รับวีซ่าประเทศเยอรมนี และเหลือเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์เท่านั้นก่อนวันเดินทาง เมื่อติดต่อกับสถานทูตจึงทราบได้ว่า เอกสารคำร้องของฉันยังไม่มีการตอบกลับมาจากหน่วยราชการในเมืองเดซเซา ทางสถานทูตเองไม่สามารถ “เร่ง” เจ้าหน้าที่ที่เยอรมนีได้ จนกว่าทางนั้นจะดำเนินการและส่งวีซ่ากลับมาให้เอง
โชคไม่ดี ก็ยังต้องมีแผน
ฉันแจ้งกลับไปว่า อย่างนั้นแล้ว ตั๋วเครื่องบิน และที่พักที่นั่นจะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก ทั้งต้องเปลี่ยนแผนการ รวมทั้งเสียเงินเพิ่มอีกจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครช่วยได้ มันคงเกินขอบข่ายของผู้มีอำนาจที่จะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ เมื่อไม่มีวีซ่าก็เดินทางไม่ได้ และถ้าบินไม่ได้ตามกำหนดแล้วจะไปเรียนทันวันเปิดเรียนหรือไม่ จะยังมีสิทธิ์ได้ไปเป็นนักเรียนอีกไหม? ค่าตั๋วต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่? ฉันคิดวนเวียนไปมากับความล่าช้าจากคนอื่นที่ฉันต้องรับผิดชอบ
แม้เจ็บปวดใจกับเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยคาดคิด แต่จะมัวใจเสีย ฟูมฟายไปก็เท่านั้น การทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสิคือสิ่งที่ต้องทำ ฉันคิดวางแผนอย่างเร่งด่วนตามลำดับ
เอาล่ะ ข้อที่หนึ่ง
- เริ่มจากไปบอกแม่ว่ามีเรื่องต้องเสียเงินเพิ่มอีกแล้วนะ
ต่อมาลำดับที่สอง
- ติดต่อสายการบินขอยกเลิกตั๋ว
แน่นอนว่าตามเงื่อนไขแล้วไม่สามารถขอเงินคืนได้ เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ฉันเสียใจและเสียดายมากที่สุด ใครจะไปรู้ว่าจะมีเรื่องผิดแผนอะไรแบบนี้เกิดขึ้น ปกติไม่เคยมีปัญหา แต่คราวพอจะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็เล่นเอาหน้ามืด หน้ามัวไปหมด
ส่วนข้อสาม
- เรื่องวีซ่า
คือหนักหนาที่สุด ฉันจะต้องโทรศัพท์หาใคร เขียนจดหมาย อีเมลไปที่ไหนถึงจะได้ความคืบหน้า
ว้าเหว่ เวิ้งว้าง วุ่นวายได้สักพักหนึ่ง ก็นึกขึ้นได้ว่ามี เพื่อนของเพื่อนที่เคยไปเยอรมนีสั้นๆ ซึ่งฉันเองเคยได้พูดคุย ปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเดินทางอยู่เป็นประจำ พอได้ติดต่อกันอีกครั้ง เพื่อนของเพื่อนส่งเรื่องฝากฝังต่อไปยังเพื่อนชาวเยอรมันอีกท่านหนึ่งเพื่อโทรศัพท์ไปที่หน่วยงานเรื่องวีซ่าของเมืองเดซเซาว่า “มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?” และวันนั้น ฉันจึงได้รับเรื่องว่าความซับซ้อน และขั้นตอนระบบที่ยุ่งเหยิงทำให้เอกสารคำร้องของฉันลอดหลุดสายตาเจ้าหน้าที่ หลังจากการโทรศัพท์สายนั้น เรื่องที่เคยสูญหายก็ถูกดำเนินการทันที
แล้วฉันได้รับหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเป็นภาษาเยอรมันระบุระยะเวลาและประเภทวีซ่าระยะสั้นกลับคืนมา
เรื่องนี้อาจไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนของเพื่อน-ของเพื่อน เมื่อส่งข้อความไปขอบคุณผู้ช่วยเหลือทั้งสองคนนี้ ฉันก็พร้อมเดินทางเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ ณ เยอรมนี ในวันที่ 17 กันยายน ปี 2010
โลกใหม่ ที่ยังไม่พร้อม
ใกล้ถึงเวลาบินข้ามฟ้าไปอีกฝั่งของทิศตะวันตกเต็มทีแล้วสินะ
ฉันรำพึงระหว่างนั่งมองแสงแดดของกรุงเทพที่หลังบ้านตามลำพัง แสงส้มสีแสดสอดลอดผ่านมูลี่ไม้ผ่านผนัง แปลกที่กลับไม่รู้สึกร้อนอบอ้าวอย่างที่เคยรำคาญ ฉันตักตวง เก็บกักไอพระอาทิตย์ในลมอากาศ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก เฮ้อกรุงเทพฯ เอ๊ย คงต้องคิดถึงกันมากแน่ๆ
เรื่องน่าจะจบลงและเริ่มเล่าบทใหม่หลังจากบ่ายนั้น หาก “เจ้าทอง” หมาตัวโปรดประจำบ้านไม่ได้ลงรอยเขี้ยวไว้ที่ผ่ามือขวา ขณะฉันถือขนมไว้ในมือและกำลังจะยื่นให้ แต่ความตื่นเต้นลนลานทำให้เจ้าทองงับขนมพร้อมกับมือเข้าไปด้วย
แผลไม่ใหญ่โตเท่าไหร่ คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง แต่เลือดที่ไม่หยุดไหลสักทีทำให้ฉันเริ่มเวียนหัว สุดท้ายก็ต้องไปล้างแผลที่คลินิกหมอใกล้บ้าน ซึ่งนอกจากต้องมาที่นี่ทุกวันเพื่อทำความสะอาดแล้ว จากคำแนะนำของแพทย์ จะต้องฉีดยาอีกห้าครั้ง เว้นสี่วัน เจ็ดวัน และสองอาทิตย์ตามลำดับแม้ว่าเจ้าทองจะได้รับวัคซีนของหมาครบถ้วนแล้วก็ตาม
โอ้โห อีกเจ็ดวันจะบินอยู่แล้วคงไม่สามารถฉีดวัคซีนที่ใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนให้ครบตามนั้นได้ ฉันโวยวายกับหมอเสียงดังลั่นว่า จะมาล้างแผลอีกหกวัน แล้ววัคซีนได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น พร้อมขอยาลดการติดเชื้อและแก้ปวดด้วยเผื่อจำเป็นต้องใช้
“เจ้าทอง” หมาบ้านน่ะ ไม่โกรธหรอกนะ แต่อยากตัดพ้อกับผู้กำหนดโชคชะตาว่าจะต้องให้มีปัญหาทุกขั้นตอนเลยใช่ไหม โอ้ย! ทำไมมันยากขนาดนี้ จะอะไรนักหนา ต้องให้ลำบากขนาดไหนกว่าจะได้ไปนะ ประเทศเยอรมนี
หรือ “อะไรบางอย่าง” กำลังท้าทาย
ถ้าลำบากจะทำยังไง ถ้าเรียนไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น แน่ใจนะว่าจะไป แนะนะว่าไหว และรับมือได้ เมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในต่างแดนตามลำพัง ลึกๆ ในใจมันก็กลัว ทั้งเรื่องมือที่อาจติดเชื้อลุกลาม และการเดินทางครั้งนี้ ว่าเป็นการตัดสินใจ “ที่ใช่” แล้วจริงๆ
บทที่ 5 : ไม่บังเอิญ
ฉันเปิดผ้าม่านและหน้าต่างสีขาวบานใหญ่ ต้นไม้สูงมีใบไม้สามสีปรากฏที่ด้านหน้า ลมเย็นไหลเข้ามาในห้องพร้อมไอหนาว ความเย็นที่ครอบครองปลายเท้าและสองฝ่ามือ รถยนต์สองสามคันวิ่งอยู่ดังฉิว ฉิว ฉิว เสียงอากาศเคลื่อนตัวส่งเสียงวืด วืด วืด ท้องฟ้ามืดครึ้มแม้เป็นเวลาแปดโมงเช้าในวันใหม่
ไม่มีใครรู้เรื่องของวันพรุ่งนี้ มีเพียงแค่ความพยายามที่ได้สะสมและลงมือสร้าง ฉันรู้สึกว่า บทแรกของชีวิต ความฝันที่อยากเป็นสถาปนิกได้สำเร็จลุล่วง ฉันทำมันได้ และนับจากนี้ นี่คือเวลาที่ภาคสองของชีวิตกำลังเริ่มขึ้น ชีวิตในต่างประเทศ ในโลกใหม่ ณ ต่างแดนได้ปรากฏตัวแล้ว
นั่นคืออีกความฝันที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่านะ
อ่านตอนก่อนหน้านี้