“หาที่พักในเบอร์ลิน ยากกว่าหางาน … “
หาบ้านในเบอร์ลินเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาก นอกจากมีเงินมาก กำลังจ่ายมหาศาล ก็อาจจะง่ายกว่าเพียงเล็กน้อย เพราะบางครั้งเงินมี แต่เจ้าของบ้านไม่ทำสัญญาให้ หรือมีทรัพย์เยอะแต่เอกสารไม่พร้อม ก็มีสิทธิ์อาจจะไม่ได้ห้องพัก ส่วนกรณีติดต่อผ่านเอเจนซี่หาบ้าน แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งก็ต้องยอมรับ ยอมจ่ายค่านายหน้าเพิ่ม
ปี 2012 : สองประสบการณ์(ใหม่)
ฉันย้ายมาเบอร์ลินในเดือนกันยายน 2012 ซึ่งถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้ห้องพักในโลเคชั่นดีที่ราคาค่อนข้างถูก ค่าเช่าห้อง 310 ยูโรต่อเดือน (รวมค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าทำความร้อน โทรศัพท์ และอินเตอร์เนต) หรือประมาณ 12,000 บาทในยุคนั้น และค่ามัดจำอีก 200 ยูโร
“ห้องนอนส่วนตัว” ขนาด 25 ตารางเมตร มีห้องครัว ห้องน้ำ ห้องอาหารและส่วนนั่งเล่นในแชร์อะพาร์ทเมนต์ใหญ่สีเหลือง ราว 100 ตารางเมตรกลางเมืองนั้นเป็นเงื่อนไขที่ดี ราคาปรานีก็จริง แต่มันแลกมากับสองประสบการณ์ใหม่:
- หนึ่ง : การแชร์ที่พักกับคนอื่น
การ “แชร์ห้องพัก” กับ “คนแปลกหน้า” นั่นคือ การมีห้องนอนเป็นของตัวเอง แต่แชร์ส่วนกลางได้แก่ ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเก็บของ ระเบียง เป็นต้น การอยู่ร่วมชายคากับคนไม่รู้จักหน้าค่าตา ใช้ห้องน้ำเดียวกัน ซักผ้าเครื่องเดียวกัน มันถือเป็นความพิลึกพิลั่น เป็นสิ่งที่ตั้งแต่ฉันเกิดมายังไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งที่พักแบบนี้ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Wohngemeinschaft เรียกสั้นๆ ว่า WG (เว-เก)
- สอง : เตาผิง
อะพาร์ทเมนต์สีเหลืองในตอนนั้นไม่มีระบบให้ความร้อนแบบใหม่ หรือ ฮีทเตอร์ แต่ยังเป็นการให้ความอุ่นแบบ “เตาผิง” ที่ใช้ถ่าน โดยมีติดตั้งในห้องนอน และห้องนั่งเล่นเท่านั้น เวลาอาบน้ำในหน้าหนาวจึงเป็น “ความท้าทาย” ที่ฉันไม่เคยลืม
หาที่พัก หาบ้านในเบอร์ลิน : ข้อควรรู้
ที่พักในเบอร์ลินหายากและมีการแข่งขันสูงทั้งชาวต่างชาติและคนเยอรมันเอง ฉันเองเคยเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งตลอดหลายปีที่ฝ่าฟันหาห้องพัก ฉันพบว่ามีข้อสังเกต/ สิ่งที่ควรรู้ใน และเช็คลิสต์ที่ใช้การหาห้องแบบแชร์กับคนอื่นหรือ WG ในฐานะผู้เช่ารายย่อย (Untermiete) ที่เบอร์ลิน (รวมทั้งในเยอรมนี) ดังนี้:

1 : เฟอร์นิเจอร์
เป็นห้องเปล่า (unmöbliert) / ห้องมีเฟอร์นิเจอร์ให้ (möbliertes Zimmer) ถ้ามี มีอะไรบ้าง หรือในห้องมีเฟอร์นิเจอร์บางอย่างให้ด้วย (teilweise möbliert / teilmöblierten)
วันที่ย้ายเข้าเบอร์ลิน ฉันมีเพียงเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวเท่านั้น การหาห้องในที่พักที่มีเฟอร์นิเจอร์พื้นฐาน เช่น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือจึงมีความจำเป็นมาก ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่ต้องการห้องเปล่าๆ เพราะมีสมบัติ เครื่องใช้ส่วนตัวอยู่แล้ว และต้องการ “ตกแต่งห้อง” อย่างที่ตนเองชื่นชอบ
2 : จำนวนคนแชร์ห้อง
เช่น 2er คือ 2 คน, 3er คือ 3 คน, 5er คือ 5 คนใน 1 อะพาร์ทเมนต์ ดังนั้นคนรักความสงบ ไม่ชอบคนเยอะอย่างฉัน จำนวนคนแชร์ห้องพักกันจึงสำคัญมากต่อสุขภาพใจและร่างกายในการเป็นอยู่
3 : Anmeldung – ทะเบียนที่อยู่อาศัย
ทำการลงทะเบียนที่อยู่อาศัยได้หรือไม่ (Anmeldung) การเอาชื่อลงในทะเบียนบ้านนั้นเป็นที่ต้องทำหากทำการพักอาศัยในเยอรมนีมากกว่าสามเดือน
4 : Stadtteile/ Bezirk – โลเคชั่น
เบอร์ลิน มี 12 เขตที่อยู่อาศัย แบ่งเป็นโซน A, B และ C คนส่วนใหญ่ย่อมอยากอยู่ใจกลางเมือง เขตที่เป็นที่นิยมในเบอร์ลิน เช่น Mitte, Prenzlauer Berg, Friedrichshain-Kreuzberg, Neukölln, Schöneberg, Charlottenburg Wilmersdorf ย่อมมีราคาสูงกว่าบริเวณชานเมืองอย่าง Weißensee, Reinickendorf, Spandau เป็นต้น
สิ่งสำคัญสำหรับฉัน คือสถานที่ตั้งของที่พัก เพราะหากอยู่ไกลมาก การมาทำงานย่อมใช้เวลามากเช่นกัน ดังนั้นอะพาร์ทเมนต์ควรจะอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ใกล้ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งบางครั้ง ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้อย่างที่อยาก ฉันจึงต้องยอมอยู่ไกลศูนย์กลางเมือง อย่างน้อยก็ดีกว่าการไร้ที่อยู่ล่ะนะ

5 : WG Leben -ไลฟ์สไตล์
WG คือการอยู่ร่วมกันในหนึ่งสถานที่ ผู้เช่าหลักบางคนอาจมองหาคนที่อยู่อย่าง “ตัวใครตัวมัน” ไม่สุงสิง ไม่แฮงเอาท์ร่วมกัน หาเฉพาะคนที่ทำงานแล้วเท่านั้น หรือต้องการผู้แชร์ห้องที่ออกไปทำงานมากกว่า work from home อาจมีการกำหนดช่วงอายุเลยด้วยซ้ำว่าเป็นเท่าไหร่
ในทางตรงกันข้าม WG แบบวัยรุ่นวัยปาร์ตี้หน่อยก็มี กลุ่มคนที่ไม่ใช่หาคนแชร์ส่วนกลาง แต่ต้องการคนที่ยินดีกับการ “เข้าสังคม” อย่าง ทำอาหารด้วยกัน แชร์กับข้าว แบ่งปันของในครัว ในตู้เย็น จิบไวน์ ดื่มเบียร์ ออกไปเที่ยว กินอาหารนอกบ้าน ไปบาร์ หรือพิพิธภัณฑ์ด้วยกันบ้าง
6 : Nebenkosten – ค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มเติม
Nebenkosten หมายถึง utilities cost หรือ incidental cost เช่น ส่วนต่างค่าไฟ (แล้วแต่สัญญา), ค่าน้ำที่จะมีการจ่ายเพิ่มหากใช้มากเกินจากที่คำนวณไว้ รวมทั้ง ค่าคนดูแลตึก (Hausmeister), ค่าเก็บขยะ, ค่าทำสวน, ค่าไฟในโถงบันได เป็นต้น อาจเป็นการจ่ายเพิ่มเป็นรายเดือน (Abschlag) หรือ/และ รายปี

7 : Mietkosten – ค่าเช่า
การแจ้งราคาค่าเช่าที่พัก แบ่งเป็น 2 ประเภท:
- Kaltmiete / cold rent
คือ ค่าเช่าห้องเพียงอย่างเดียว
- Warmmiete / warm rent
คือ ค่าเช่าห้อง Kaltmiete + Nebenkosten
ฉะนั้น ราคาที่ต้องจ่ายจริงๆ รายเดือนคือ Warmmiete และแปลว่า ค่าเช่านี้อาจมีราคาเปลี่ยนแปลงทุกปี ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มเติม (Nebenkosten) ซึ่งมักจะมีการเก็บส่วนต่างนี้ภายหลัง ห้อง WG บางที่อาจมีการจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต หรือค่าไฟแยกต่างหาก
8 : SCHUFA Auskunft – เครดิตและเอกสารทางการเงินของผู้เช่า
SCHUFA (SCHUFA Holding AG) เป็นบริษัทที่ส่งมอบประวัติและรายละเอียดทางการเงินส่วนบุคคลโดยรวม รวมทั้งประวัติการขึ้นศาล การจ่ายค่าปรับ หนี้สิน หากเป็นบุคคลที่เคยมีการจ่ายเงินช้าหรือไม่ตรงตามสัญญาก็จะถูกบันทึกลงในเอกสารเครดิทนี้ด้วย ดังนั้นเจ้าของห้องพักจึงนิยมขอประวัติ SCHUFA จากว่าที่ผู้เช่าว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
นอกจาก SCHUFA แล้ว เจ้าของห้องบางที่มักขอเอกสารรับรองทางการเงินอื่นๆ เช่น สัญญางาน และ สลิปเงินเดือนย้อนหลังสามเดือน รวมทั้งจดหมายรับรองจากเจ้าของห้องคนเก่าอีกด้วย
9 : ภาษาเยอรมัน
ในสังคม WG ของเบอร์ลินมีทั้งผู้เช่านานาชาติ /ผู้เช่าแบบคละ (ต่างชาติ + เยอรมัน) บางครั้งภาษาอังกฤษคือภาษาที่ใช้สื่อสาร แต่หลายครั้งที่ผู้เช่าหลัก รวมทั้งเจ้าของที่พักต้องการคนที่พูดภาษาเยอรมันได้ ซึ่งเมื่อตอนที่ยังพูดภาษาเยอรมันไม่ได้ ก็ทำให้ฉันพลาดห้องพักมาแล้วนับไม่ถ้วน

ต้นปี 2013 : ลาก่อน
ฉันออกจากห้องพักในโลเคชั่นดีที่ราคา 320 ยูโรต่อเดือนเพื่อไปทำงานที่เมือง Stuttgart แต่โชคไม่ดีนักที่งานดังกล่าวไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ทุกคนวางแผนไว้ แม้จะดีใจที่ได้ย้ายกลับมาเบอร์ลินในหนึ่งเดือนให้หลัง แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามที่พัก” กับการหาห้องพักแบบ WG ในเบอร์ลินอีกครั้ง แต่คราวนี้ ทุกอย่างไม่ง่าย ไม่สวยงามฟ้าประทานเหมือนครั้งแรก
2013 – 2016 : สงครามที่พัก สงครามหาบ้านในเบอร์ลิน
เบอร์ลินมี 12 เขต ใน 4 ปีแรก ฉันย้ายที่พักไปทั่วเมืองถึง 7 เขต:
- Mitte
- Weißensee
- Charlottenburg-Wilmersdorf
- Wedding
- Neukölln
- Kreuzberg
- Pankow
ช่วงไหนที่ย้ายไปที่ใหม่ไม่ทัน ก็ต้องพึ่งพาที่พักประเภท airbnb หรือหาที่พักแบบรายสัปดาห์ มันยากยิ่งทั้งหางาน หาเงิน และหาบ้าน ด้วยความหมิ่นเหม่ทั้งการเงิน และไม่สามารถตอบเจ้าของบ้านได้ว่าในฐานะคนต่างชาตินั้นจะอยู่ที่เบอร์ลินนานเท่าไหร่ นี่จึงเป็นระยะเวลาและหนึ่งในประสบการณ์ที่ไม่ดีนักสำหรับชีวิตที่นี่
2016 : ห้องใหม่
ฉันได้ห้องพักใหม่แบบ WG ซึ่งที่พักนี้อยู่ห่างกับอะพาร์ทเมนต์สีเหลือง ที่พักแรกของฉันในเบอร์ลินไปเพียงหนึ่งซอยเท่านั้น แม้เป็นอะพาร์ทเมนต์ที่ปรับปรุงใหม่พร้อมระบบทำความร้อนแบบใหม่และอยู่ร่วมห้องกับผู้เช่าหลักอีกคนหนึ่ง (2er) แต่ก็ถือว่า ราคาต่างกันครึ่งต่อครึ่ง เพราะฉันค่าห้องใหม่ราคา 400 ยูโร (16,000 บาทในยุคนั้น) เพื่อห้องนอนขนาด 12 ตารางเมตรในแชร์อะพาร์ทเมนต์ขนาด 55 ตารางเมตร
ปัจจุบันนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์ WGs Berlin ที่พักในโซนดังกล่าว (เขต Mitte) มีราคาระหว่าง 550 – 700 ยูโร (ประมาณ 20,000 – 25,000 บาทในอัตราแลกเปลี่ยนปี 2023) กับห้องนอนขนาด 14-17 ตารางเมตร ในแชร์อะพาร์ทเมนตร์ 70 ตารางเมตรสำหรับสอง-สามคน (2er/ 3er)
หาที่พัก หาบ้านในเบอร์ลิน :

การหาที่พักในเบอร์ลินระยะยาวเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก คนหน้าใหม่จากนอกเยอรมนีที่ย้ายมาอาจพลาดท่าให้กับค่านายหน้าที่ราคาแสนแพง หรือกลุ่มคนหลอกลวง (สแกมเมอร์) ที่หลอกล่อให้ข้อเสนอที่ดีและขอให้โอนเงินค่ามัดจำ (Kaution) ล่วงหน้าให้โดยยังไม่เคยเห็นหน้า กรณีเช่นนี้มีให้เห็นผ่านตากันหลายครั้งจากพวกมิจฉาชีพที่หากินจากการทำร้ายผู้อื่น
การหาที่พักในเบอร์ลินระยะยาวจึงไม่ใช่แค่มีเงิน มีกำลังจ่ายเพียงเท่านั้น เพราะต้องเข้าใจในระบบ ต้องมีจังหวะ โอกาสที่ดี หรือโชคชะตาด้านบวกเข้าช่วยด้วยถึงจะสำเร็จ และจากทั้งหมดนี้ ก็คงไม่ผิดอะไรนักหากฉันจะสรุปได้ว่า ในเบอร์ลินน่ะนะ บ้านน่ะหายากกว่าหางานทำเสียอีก