เมื่อไม่สบายเกิน 3 วัน
การไปหาหมอในเยอรมนีเป็นสิ่งที่ฉันไม่ชอบเลย แต่เมื่อไม่สบายและหยุดงานไป 4 วัน ตามกฏหมายและกฏของบริษัทแล้ว หลังจากหายดีและกลับไปทำงานได้แล้ว จะต้องนำ “ใบรับรองแพทย์” ไปแสดงเป็นการยืนยันความป่วย
Hausarzt : “หมอบ้าน”
Hausarzt เป็นชื่อเรียกแพทย์ที่รักษาทั่วไปในเยอรมนี คนไทยมักเรียกว่า “หมอบ้าน” ตรงตามคำแปลภาษาเยอรมันว่า Haus แปลว่าบ้าน และ Artz คือหมอ ซึ่งบางคนมีแพทย์ประจำตัวที่รู้จัก คุ้นเคยเงื่อนไขประวัติกันดี รวมทั้งมีคลินิกประจำที่ไปใช้บริการยามเจ็บไข้
จากที่ฉันได้ยินมา การไปพบแพทย์เช่นนี้มีทั้งนัดล่วงหน้า และแบบไม่ต้องนัด (walk-in) ได้ ซึ่งไม่ว่าวิธีไหนก็ต้องพบกับการรอคอย ทั้งรอคิว และรอพบคุณหมอเป็นเวลานานทั้งสิ้น นอกเสียจากใช้ประกันสุขภาพของระบบเอกชน (PKV: Private Krankenversicherung) ที่เบี้ยประกันสูงกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะได้คิวคุณหมอเร็วขึ้น หรือบริการทางสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ที่มากกว่าระบบประกันสุขภาพพื้นฐานตามกฏหมาย (GKV: Gesetzliche Krankenversicherung) แบบที่ฉันมีสิทธิ์
Arztbesuch : ไปหาหมอในเยอรมนี และสิ่งที่ต้องมี
ฉันไม่มี “หมอบ้าน” และ “คลินิก” ประจำตัว หากจำเป็นต้องพบแพทย์ก็จะเลือกจากสถานที่ที่สะดวกเสียมากกว่า ซึ่งการไม่สบายครั้งนี้ ทำให้ฉันได้ลองไปคลินิกใหม่ใกล้บ้าน เดินข้ามสวนสาธารณะไปประมาณ 15 นาที
การไปหา “หมอบ้าน” ในเบอร์ลินไม่มีอะไรมากกว่า “การรอ” และเพื่อการรออย่างมีประสิทธิภาพ กระเป๋าสะพายจึงมีแท็ปเลตที่โหลด อี-บุ๊กไว้สองเรื่อง น้ำเปล่าหนึ่งขวดใหญ่ ลูกอมแก้ไอ และบัตรประกันสุขภาพ (Krankenversicherung) สิ่งสำคัญที่ต้องมีในการไปพบแพทย์
คลินิกเปิดทำการ 8 โมงจนถึง 11:30 และไม่รับนัดล่วงหน้า ดังนั้นหากเพื่อเลี่ยงการรอนานจนเกินไป การ walk-in ไปเร็วๆ ย่อมได้คิวแรกๆ ซึ่งฉันตั้งใจไว้ว่าจะไปก่อนล่วงหน้าสัก 10 นาทีก็น่าจะไม่สายจนเกินไป แต่เมื่อไปถึงตอน 07:45 ก็มีคนมาก่อนแล้ว 7 คน ทุกคนยืนต่อแถวกันอย่างเรียบร้อยบนโถงบันไดทางขึ้นคลินิกที่อยู่บนชั้น 2 ของอาคาร
อาคารนี้เป็นตึกเก่า และยังมีรายละเอียดการก่อสร้างยุคเก่าอยู่เกือบทั้งหมด ผนังอิฐหนาทางสีขาวปนชมพูอ่อนที่เต็มไปด้วยลายกราฟิตี้ ข้อความเขียนมือและสติกเกอร์ บันไดเวียนงานปูน ราวจับและตัวกรุผนังทำด้วยไม้ ลวนเป็นวัสดุที่ไม่นิยมใช้แล้วในงานก่อสร้างยุคปัจจุบัน
8 โมงตรงจึงได้ยินเสียงไขประตู ในตอนนั้นมีคนมารออยู่บนโถงบันไดถึง 15 คนแล้ว และเมื่อถึงคิว ฉันยื่นบัตรประกันสุขภาพให้และแจ้งว่าเป็นคนไข้ใหม่ ไม่สบาย และต้องการขอใบรับรองแพทย์ หลังจากกรอกใบประวัติ ซึ่งประกอบด้วย
- ชื่อ นามสกุล
- วันเกิด
- ที่อยู่ สถานที่ติดต่อ
- เบอร์โทรศัพท์
- อีเมล
- ประวัติการใช้ยา (หากมี)
- ประวัติการแพ้ยา (หากมี)
- โรคประจำตัว (หากมี)
หลังจากกรอกใบประวัติเรียบร้อยแล้ว ฉันจึงมานั่งให้ห้องรอพบแพทย์พร้อมคนอื่นๆ 10 นาทีให้หลัง 8 โมง ฉันเห็นว่ามีคนมารอกว่า 20 คนแล้ว และยังทะยอยมาบ้าประปราย ห้องรอขนาด 25 ตารางเมตรเต็มไปด้วยคนไข้ เมื่อครบ 40 นาที คุณหมอผู้หญิงเดินมาเรียกชื่อจริงของฉัน ไม่ได้ขานชื่อสกุลตามธรรมเนียมตะวันตกอย่างที่คุ้นเคย
พบ “หมอบ้าน” : Arzt zu sprechen
ฉันบอกว่า มีไข้ น้ำมูกไหล และไอ จึงไม่ได้ไปทำงานตั้งแต่ต้นสัปดาห์และต้องการใบรับรองแพทย์ คุณหมอถามเพิ่มเติมว่าเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันไหน ไข้สูงเท่าไหร่ มีอาการหายใจขัดข้อง หายใจไม่ออกติดขัด (Luftnot) บ้างหรือไม่ จากนั้นจึงวัดไข้อีกครั้ง และฟังเสียงการทำงานของปอด
นอกจากอุณหภูมิอยู่ที่ 37.5 แล้วอาการอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คุณหมอไม่ได้จ่ายยาให้ และให้คำแนะนำดังนี้
- นอนพัก
- ดื่มน้ำเยอะๆ
- ดื่มชาที่ช่วยบรรเทาความระคายเคืองคอ และใส่น้ำผึ้ง
- การพ่นคอและจมูก (inhalieren) ก็จะช่วยให้หายใจคล่องขึ้น
- หากต้องการลดไข้ สามารถใช้ยาอย่างแอสไพริน หรือ พาราเซตามอลได้
หากอาการยังไม่หายดีก็ให้กลับมาใหม่ในอาทิตย์หน้า ฉันได้ใบลาป่วย 1 สัปดาห์ตามที่ต้องการ การพบแพทย์ก็สิ้นสุดลงภายใน 10 นาที และได้ออกจากคลินิกเวลา 9 โมงตรง ซึ่งถือว่ากระบวนการไปหมอครั้งนี้ที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงนิดๆ นั้นไม่นานอย่างที่คิดไว้
ไม่ต้องไปหาหมอถ้าไม่จำเป็น
นอกจากหมอเฉพาะทางอย่าง สูตินารี (Frauenarzt/ Gynäkologe) หรือหู-คอ-จมูก (HNO) แล้ว ฉันไม่ชอบไปหาหมอเสียเลย การพาร่างกายที่ไม่พร้อมไปนั่งรอพร้อมคนป่วยอื่นๆ เป็นเวลานานนั้นยิ่งทำให้รู้สึกว่าจะไม่สบายหนักกว่าเดิม นอกจากนี้ อาการป่วยทั่วๆ ไปอย่างมีไข้ น้ำมูกไหล ซึ่งเป็นอาการที่ไม่จำเป็นต้องไปถึงมือแพทย์ (เยอรมัน) การนอนพักผ่อนอยู่บ้านนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไปคลินิกอย่างแน่นอน
การไม่สบายครั้งนี้ ฉันหยุดงานไป 4 วันจึงต้องใช้ใบรับรองแพทย์ (AU: Arbeitsunfähigkeitsbescheinigung) หรือที่เรียกติดปากกันในภาษาเยอรมันง่ายๆ ว่า Krankschreibung = ใบป่วย ตามกฏของบริษัท
Krankenversicherung : ประกันสุขภาพ สิ่งจำเป็นในเยอรมนี
ดังที่กล่าวไว้ ระบบประกันสุขภาพของเยอรมนีมี 2 ระบบ นั่นคือ
- ระบบเอกชน (PKV: Private Krankenversicherung)
- ระบบรัฐ (GKV: Gesetzliche Krankenversicherung)
โดยทั่วไปแล้ว ความแตกต่างระหว่างสองระบบนี้ คือ จำนวนรายรับ (Einkommen) ของผู้ถือประกัน โดยหากมีรายได้ต่อไปมากกว่า 520 ยูโร/เดือน (ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022) แต่ไม่เกิน 64.350 ยูโร/ปี (ข้อมูลหลังจากปี 2022) จะมีสิทธิ์ใช้ประกันระบบ GKV เว็บไซต์กระทรวงสาธารณะสุข (Bundesministerium für Gesundheit) กล่าวไว้ว่า จำนวนผู้ที่ใช้ระบบประกันแบบ GKV นั้นมีถึงกว่า 90% ในเยอรมนี
การจะถือประกันสุขภาพระบบเอกชน (PKV) นั้น ขึ้นอยู่กับอาชีพอีกด้วย เช่น ฟรีแลนซ์เซอร์ (Selbstständigen), พนักงานของรัฐ (Beamtinnen und Beamten) รวมทั้งคนที่มีรายได้มากกว่าตามที่กำหนดไว้ของระบบ GKV
ในเยอรมนี ผู้พำนักอาศัยทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ ไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ตามกฏหมายแล้ว ประกันสุขภาพยังเป็นหนึ่งในเอกสารจำเป็น (Erforderlicher Unterlagen) สำหรับในการทำเรื่องวีซ่าอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล: