Equinox : วันที่ความฝันอยู่เคียงข้างกันกับโลกใหม่ ตอนที่ 1
บทที่ 1 : ก่อน
ฉันมีความโชคดีอย่างหนึ่ง คือการที่รู้ว่าตัวเองอย่างเป็น “สถาปนิก” ตั้งแต่เด็ก และการได้เติบโตในครอบครัว ที่โดยเฉพาะผู้เป็นแม่นั้นส่งเสริมให้ได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศ ไม่เพียง “ให้” เท่านั้น แม่ยังผลักดัน สนับสนุน และไม่เคยปฏิเสธสักครั้งแม้กระทั่งในวันที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินกระทันหัน ซึ่งคงไม่มีคิดหรอกว่า “โอกาส” ในโลกใหม่เหล่านั้น จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล การย้ายถิ่นฐานของฉันอย่างถาวร
ชีวิตในต่างประเทศ กับโลกใหม่ ในสี่ทวีป
ประเทศสิงคโปร์
การไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกกับแม่ตอนป. 5 และบรรยากาศบ้านเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในสมัยนั้นไม่น่าตื่นตาตื่นเต้นใจเท่าไหร่ หากเทียบกับการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ กระเด้งกระดอนตลอดขากลับมาสนามบินดอนเมือง ฉันมองแก้วน้ำที่สั่นไหว กลิ้งไปมาก่อนที่พนักงานประจำสายการบินจะประกาศให้ทุกคนปรับที่นั่งให้ตั้งตรง
กรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
คือจุดหมายถัดไปที่ฉันได้ไปเยือนพร้อมกับเพื่อนใหม่สี่คน พวกเราเป็นนักเรียนตัวแทนจากประเทศไทยไปเข้าค่ายฤดูร้อนเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพร้อมกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันจากทั่วโลก ทุกทวีป นอกจากเป็นทริปที่ไปไกลถึงละตินอเมริกาแล้ว นี่คือการออกนอกประเทศโดยไม่มีผู้ปกครองไปด้วย แต่สำหรับฉันนั้นไม่ใช่ปัญหา ตรงกันข้าม นั่นคือประสบการณ์ความสนุกอย่างที่สุดเท่าที่เด็ก ป.6 จะสัมผัสได้ ฉันไม่เคยคิดถึงบ้านเลยสักนาทีเดียว
หกสัปดาห์ที่บัวโนส ไอเรสนั้นสั้นเกินไป แต่มันก็มากพอจะทำให้ฉันเรียนรู้การเข้าสังคม กล้าแสดงออก นอกจากการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นมากแล้ว ยังมีของแถมเป็นภาษาสเปนขั้นพื้นฐานซึ่งฉันยังเสียดายอยู่ทุกวันนี้ ว่าไม่ได้ตั้งใจฝึกภาษาที่สามอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น
สหราชอาณาจักร
ปิดเทอมปีถัดมา จากคำแนะนำของแม่ ฉันจึงได้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Exeter เมืองทางใต้ของประเทศอังกฤษ เป็นอีกครั้งที่ได้ร่วมเดินทางไปพร้อมนักเรียนไทยคนอื่นๆ ในวันเดินทาง ฉันรีบเดินขึ้นเครื่องบินอย่างเริงร่า เฝ้ารอเวลาที่จะได้พบกับประสบการณ์ใหม่ในยุโรปที่กำลังมาถึง บรรยากาศของเขตเดวอน (Devon) เดือนพฤษภาคมสวยงามอย่างที่สุด ฉันได้สัมผัสไอเย็นของลมตะวันตก ได้พายเรือคายัคในแม่น้ำเทมส์ (Thames River) ได้กินมันฝรั่งบด (mashed potatoes) ปลาทอด (fish and chips) แบบชาวอังกฤษ อาหารนานาชนิดฝีมือบ้านอุปถัมภ์ (host family) ที่อร่อยมาก และที่ตื่นตาอย่างที่สุด คือการมีนมสดในขวดแก้วมาส่งที่ประตูบ้านเป็นประจำเกือบทุกวัน
แต่พฤติกรรมเด็กไทยอย่างฉันก็แสบใช่ย่อย เพราะนอกจากคุณพ่อประจำบ้าน (host dad) ดุบ่นว่าทำห้องน้ำเปียกแล้ว การแอบไปต้มมาม่าในห้องน้ำกลางคืนนั้นยังแปลกประหลาดต่อเจ้าของบ้านเหลือเกิน ฉันไม่ได้หิวโหยในยามมืดค่ำหรอก เพียงแต่ความสนุก ความคะนองทำให้อยากรู้ว่า น้ำร้อนๆ จากก๊อกในห้องน้ำจะทำให้มาม่าสำเร็จรูปสุกได้เหมือนการต้มด้วยหม้อปกติหรือเปล่าเท่านั้นเอง
การอยู่ที่นั่นเพียงสี่สัปดาห์ ได้หยั่งราก ผลิใบอิทธิพลของตะวันตกอย่างเด่นชัด มันไม่ใช่แค่ลักษณะความเข้าใจภาษาอังกฤษ แต่ยังแผ่ไปถึงความรักต่อสายฝน ชื่นชมสีเทาของท้องฟ้าของมหานครลอนดอน สุ้มเสียงสไตล์ดนตรี ฉันหลงเสน่ห์ประเทศอังกฤษเข้าอย่างจังและตั้งใจว่า สักวันหนึ่งจะกลับไปที่นั่น
- นิวซีแลนด์
ช่วงรอยต่อระหว่าง ม.3 กับ ม.4 ในขณะนักเรียนร่วมชั้นหลายคนกำลังยุ่งกับการเตรียมเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมปลายชื่อดัง แต่ฉันกลับสาละวนเก็บกระเป๋าใบใหญ่ เพื่อเดินทางไปอีกฝั่งของทิศตะวันออก สุดขอบใต้ ณ ปลายล่างเกาะเหนือ สถานที่ตั้งของกรุงเวลลิงตัน (Wellington) เมืองหลวงประเทศนิวซีแลนด์ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศชื่อดังแห่งหนึ่ง ในครั้งนั้น โครงการแบ่งเป็นแบบหนึ่งปี และโปรแกรมระยะสั้น ต้องผ่านการคัดเลือกถึงสามรอบเพื่อแสดงให้เห็นว่า เรามีคุณสมบัติที่จะเป็นหนึ่งในผู้เดินทางจากประเทศไทย และกลายเป็นว่าเด็กขี้อายอย่างฉัน ได้ผ่านการทดสอบพร้อมกับเพื่อนนักเรียนไทยอีก 7 คน
พวกเราบินไปที่แดนกีวี่และอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 8 สัปดาห์ตามกำหนดการของโปรแกรมแบบสั้น (short programme) ฉันพักกับครอบครัวอุปถัมภ์ในเขตมานาวาตู (Manawatu-Whanganui) พื้นที่โดยรอบมีเพียงฟาร์ม ทุ่งหญ้า ท้องฟ้า วัวตัวหนา และแกะสีขาวขุ่น ภูมิทัศน์แสนเวิ้งว้าง สันโดษแต่สงบ สะอาด และสวยงาม กิจวัตรของพวกเราคือการไปเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมของหมู่บ้านและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นั่น จากการที่ได้ไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่งทำให้ฉันปรับตัวกับ “ภาษา” ของชาวนิวซีแลนด์ไม่ยากนัก แม้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่อย่างน้อย ฉันในวัย 15 ปีก็เข้าใจว่า tea time คืออาหารเย็น ไม่ใช่เวลาดื่มน้ำชา
ประสบการณ์จากโลกใหม่นอกกรุงเทพฯ ทั้งสี่ประเทศในสี่ทวีป ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ฉันได้รับ
ทั้งความสามารถทางภาษา การเรียนรู้ที่จะดูแล วางแผน แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ยังติดตัวอย่างเข้มแข็งมาถึงทุกวันนี้ ฉันรับมือเรื่องส่วนตัว แยกแยะเรียบเรียงขั้นตอนได้ดี รู้ได้โดยธรรมชาติว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง อะไรคือ หนึ่ง หรือ สอง สิ่งที่ตามมาจากสอง คือสาม ฉันเป็นคนมีระบบอย่างที่สุด แต่ความคล่องแคล่วเช่นนี้ ทำให้หลายทีก็เผลอตำหนิคนอื่นที่มีข้อบกพร่องในการจัดการอยู่บ่อยครั้ง ฉันไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่หรอก เมื่อเห็นใครสักคนไม่สามารถมองภาพรวมหรือบริหารเรื่องที่ต้องทำได้แม้เพียงเรื่องเล็กน้อย
วัยรุ่น
เมื่อกลับมาจากประเทศนิวซีแลนด์ ฉันเว้นการไปต่างประเทศถึงสองปี เพราะหน้าที่ที่มีในตอนนั้น คือการเผชิญหน้ากับวงจรนักเรียนมัธยมปลายที่สับสน หากแต่สนุกและสร้างสรรค์
ในยุคนั้นน่ะนะ วัยรุ่นอย่างพวกเราจะมีอะไรสำคัญไปกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เรียกติดปากกันว่า “เอ็นทรานซ์” ฉันมองว่า สาระสำคัญของชั้นมัธยมปลาย คือการทำอย่างไรก็ได้ เพื่อได้เรียนต่อในคณะที่หวังไว้ การได้เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงเป็นสิ่งเดียวในบริบทที่ฉันอยู่ว่า ต้องทำให้ได้ หากพลาดโอกาสนี้ไปแล้วล่ะก็ จะนำมาซึ่งความน่าอับอาย พ่ายแพ้ โลกจะดับสลายอย่างแน่แท้ ฉันคิดเองเออเองว่ามันเป็นแบบนั้น นั่นคือความหวังที่พวกเราต้องแบกรับ เป็นความคาดคั้นจากสังคมที่ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำให้สำเร็จ
ฉันเองมี “แนวทาง” ที่ชัดเจนว่าจะสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีสถาบันชั้นนำของรัฐในใจอยู่สองสามแห่ง แต่จากผลการเรียนที่ไม่ดีเด่น จึงเป็นเรื่องน่ากลัวอยู่พอสมควรว่า เราจะแข่งกับนักเรียนทั่วประเทศจนได้เรียนต่อในคณะที่ต้องการได้หรือไม่ และแม้ว่าตั้งใจอ่านหนังสือ เตรียมตัวอย่างดี แต่ฉันคิดไม่ออกเลยว่า ชีวิตจะดำเนินต่ออย่างไรหากล้มเหลว
ทว่า ยังไม่ทันได้ลง “สนามสอบเอ็นทรานซ์” กลับมี “ข้อสอบใหญ่” โดยไม่ทันตั้งตัว ฉันผ่านการคัดเลือกเพื่อไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ต่างประเทศในโครงการเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้คือโปรแกรมระยะเวลา “หนึ่งปี” ไม่ใช่สองเดือนเช่นในอดีต
ถ้าตกลงตามเงื่อนไขนี้ ก็ถือว่าลากันที ลาก่อนโรงเรียนสถาปัตย์ฯ ฉันจะเดินช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกันไปอย่างน้อยหนึ่งปี จังหวะของนักเรียนมัธยมปลายต้องรวนเรและว้าวุ่นแน่ๆ ฉันเชื่ออย่างยิ่งว่า โอกาสของว่าที่นักศึกษาน้องใหม่จะไม่เกิดขึ้น แล้วควรทำอย่างไร? ฉันควรจะเลือกสิ่งไหน ระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในฝัน หรือ การเดินทางไปไกลอีกครึ่งโลก เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมใหม่ ที่ประเทศเยอรมนี
บทที่ 2 : เลือกแบบไหน
ฉันอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่เด็ก ฝันเล็กๆ แต่มั่นคง และแน่วแน่จนถึงวัยรุ่น
ตอนนั้น ยังไม่รู้จักคำว่า “สถาปนิก” แต่มีความชอบ ความสนใจในการออกแบบบ้านเป็นนิสัย จนถึงชั้นมัธยมที่ 2 ถึงได้เข้าใจว่า หากอยากทำงาน “ออกแบบ” และ “สร้างบ้าน” นั้นเป็นหน้าที่ของสถาปนิก นั่นจึงทำให้เป้าหมายของฉันชัดเจนตั้งแต่อายุ 14 ว่า จะต้องเข้าเรียนในคณะสถาปัตย์ฯ เพื่อจะได้ทำงานออกแบบอย่างที่ฝันไว้
แม้ว่าทั้งพ่อกับแม่นั้นให้ความสนับสนุนการมีประสบการณ์ในต่างประเทศ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเห็นต่ออาชีพการงานแตกต่างกันคนละขั้ว พ่อเห็นด้วยที่ฉันจะเข้าเรียนการออกแบบอย่างยิ่ง ส่วนทางฝั่งแม่ แม้ไม่ได้ขัดขวางแต่ก็ไม่เชื่อว่า การเข้าโรงเรียนศิลปะจะเป็นอนาคตที่เหมาะสม
ฉะนั้นเมื่อต้องตัดสินใจ ระหว่าง “ความฝัน” กับ “โลกใหม่” เมื่อถึงวันที่ยืนอยู่ตรงที่ว่างของการจะเป็นสถาปนิก หรือ ไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลาหนึ่งปีนั้น ทำให้ฉันเลือกที่จะคุยกับพ่อ เพื่อรวบรวมความคิด หาข้อมูลในการวางเส้นถนนชีวิต พ่อบอกไว้ว่า “โอกาสน่ะ ถ้ามาถึงแล้ว เดี๋ยวมันก็มาใหม่ได้”
แล้วโอกาสที่ว่า มันคืออันไหนกันล่ะนี่
เยอรมนี หรือว่า โรงเรียนศิลปะที่พ่อหมายถึง
ความฝัน หรือ โลกใหม่?
สุดท้ายแล้ว ทั้งพ่อและแม่นั้นไม่ได้ชี้นำและเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจ ฉันมองว่านั่นเป็นการดี ที่ตัวเองได้เลือกบทต่อไปของชีวิตให้ตัวเองอย่างอิสระ ทว่า ปัญหาที่ไม่คาดคิดจากนอกบ้านก็เกิดขึ้นจนได้ เด็กนักเรียนคะแนนปานกลางอย่างฉันกลายเป็นหัวข้อน่าสนใจเล็กๆ ในภาควิชาภาษาอังกฤษ การไปโรงเรียนเป็นเรื่องน่าอึดอัด ฉันต้องคอยตอบคำถามอาจารย์อยู่เป็นระยะว่าเมื่อไหร่จะยืนยันการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนกับหน่วยงาน AFS Intercultural Programms (หรือในชื่อเดิม American Field Service) เสียที
อันที่จริง ฉันเองก็ไม่รู้ว่าทาง AFS และโรงเรียนได้มีการติดต่อกันเรื่องนี้ แต่เดาเอาว่า คงเป็นขั้นตอนมาตรฐานในการส่งเอกสารให้กับโรงเรียน เพื่อขอพักภาคการศึกษาชั่วคราวระหว่างที่ฉันไปต่างประเทศ หากฉันตัดสินใจที่จะไปเยอรมนีน่ะนะ
ฉันคิดหนักจนปวดหัว ซ้ายก็ดี ฝั่งทางขวาก็ใช่ โอ้ยทำยังไง อยากได้ อยากทำทั้งสองอย่าง เมื่อคิดดูแล้ว หากการรอจังหวะที่ใช่ ในกาลเทศะที่เหมาะสมคือองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตแล้วล่ะก็ ฉันเชื่อว่า การเลือกสิ่งที่ใจคิดว่าใช่ ณ ในเวลานั้น คือ คำตอบที่แจ่มแจ้งของทุกทางแยก อย่างนั้นแล้ว การตัดสินใจด้วยวัย 17 ปีนั้นเกิดแรงสะเทือนระดับกลางตามมาภายหลัง เมื่อฉันเลือกเดินเข้าสนามสอบเอ็นทรานซ์ มากกว่าการไปสนามบิน
คำท้วงติงจากอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ฉันไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษโดดเด่น หรือจะนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนได้ด้วยการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ หากเพียงว่าทางผู้ใหญ่คงมีความคิดที่กว้างไกลกว่านั้น อาจารย์อาจจะเสียดายที่ฉันทิ้งโอกาสหนึ่งปีในเยอรมัน เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย
โลกใหม่ หรือ ความฝัน?
เมื่อสามปีของการเป็นนักศึกษาวิชาสถาปัตย์ฯ ผ่านไป ฉันได้ไปต่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งเป็นการไปทัศนศึกษากึ่งท่องเที่ยวกับอาจารย์ในภาควิชาผังเมืองและเพื่อนร่วมรุ่นไม่ใช่นักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบเมื่อครั้งก่อน
สิงคโปร์
เมืองสิงห์โตพ่นน้ำ (Merlion) เปลี่ยนไปมาก ทันสมัย สะดวก เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียว งานภูมิทัศน์ (landscape) ที่ได้รับการออกแบบอย่างดี และตึกสูงระฟ้าแปลกตา ผิดกับภาพที่จำได้จากตอน ป.5 เสียทั้งสิ้น
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจในแง่การวางผังเมือง การขยับขยายและรอยต่อที่แนบสนิทระหว่างเมืองเก่ากับฝั่งเมืองใหม่นั้น เป็นรายละเอียดที่ควรศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ และสร้างสรรค์การออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ระดับผังเมือง ฉันไปที่นั่นพร้อมเพื่อนร่วมชั้นและอาจารย์ทีมเดิมในปีการศึกษาถัดมา
ถ้าหากว่าประเทศอังกฤษคือรักแท้ กรุงปารีสคือการหลงรักเพียงแค่แรกพบ ทุกสิ่งเหมือนอยู่ในหนังชวนฝัน ตึกรามบ้านช่อง อาคารห้องพัก สมกับการเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลก มองไปทางไหนก็สวยงามทั้งสิ้น และเป็นอีกครั้งที่ฉันตั้งใจไว้ว่า จะกลับไปที่นั่นอีก
หลังจากผ่านการเดินทางจำนวน 6 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 12 จนถึง 18 ปี การไปต่างประเทศจึงอีกเป็นหนึ่งเรื่องธรรมดาที่สมหวัง หากที่บ้านไม่ขัดสนจนเกินไป ฉันสอบแข่งขันอย่างไรก็ได้บินไปไกลถึงครึ่งโลกทุกครั้ง จนกระทั่ง ถึงปีก่อนสุดท้ายของการเรียนในมหาวิทยาลัย
ฉันส่งใบสมัครของโครงการแลกเปลี่ยนอีกที่หนึ่ง เป็นโปรแกรมสำหรับนักศึกษานานาชาติเพื่อไปฝึกงานกับบริษัทในต่างประเทศ ฉันฮึกเหิมและค่อนข้างมั่นใจเมื่อผ่านไปถึงรอบสัมภาษณ์ บทสนทนาภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยากเสียที่ไหน แม้แปลกใจที่คำถามนั้นค่อนข้างทั่วไป ไม่ได้ให้แสดงทักษะ ฉันจึงนึกทึกทักเอาว่า โครงการคงให้ความสำคัญเรื่องบุคลิกเสียมากกว่าความสนใจในสาขาความรู้ของหน้าที่ฝึกงาน
บรรยากาศการสัมภาษณ์ดูไม่สดใสเลย ฉันรู้สึกว่าผู้ถามต้องการแค่จะถาม และอยากฟังคำตอบที่ตัวเองต้องการฟังมากกว่าสิ่งที่ผู้สมัครคิดเท่านั้น แต่เด็ก 17-18 อย่างฉันจะไปรู้อะไรล่ะว่าไหม แค่ใช้คำว่า cab แทนที่จะเรียก taxi ก็ถือว่าผิดและยอมรับไม่ได้
cab แปลว่าหมวก แต่หากใช้ในบริบทว่า I’ll call a cab ย่อมเข้าใจได้ว่า “ฉันจะโทรฯ เรียกรถ (แท็กซี่)”
คำพูดไม่เป็นทางการแบบนี้ กลับเป็นเรื่องใหญ่จนผู้สัมภาษณ์ จากที่ไม่ค่อยสนใจกลับมาสั่งสอนเรื่องการใช้คำไม่สุภาพ ฉันนั่งฟังอาจารย์ท่านนั้นไปเรื่อยๆ และไม่เข้าใจว่ามันสลักสำคัญตรงไหน บางที ฉันอาจจะดูช่องเคเบิลภาษาต่างประเทศอย่าง IBC มากเกินไป จนจำศัพท์สแลงที่ได้ยินบ่อยๆ จากหนังและซีรีส์มาอย่างผิดๆ อย่างนั้นล่ะมั้ง แม้ไม่มีท่าทียียวนกวนประสาท แต่สภาพหน้าตาที่ดูก๋ากั่นมั่นใจ และภาพลักษณ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์มาตรฐาน คงทำให้ฉันไม่เข้าตา และถือเป็นครั้งแรก ที่ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศ เนื่องจากสอบตก
ฉันไม่ได้เสียใจ แค่เสียดายนิดๆ หงุดหงิดหน่อยๆ จากการสอบพูดสัมภาษณ์ แต่เอาน่าเอาเป็นว่าได้ประหยัดเงินของที่บ้าน เอาล่ะ ก็ดีเหมือนกัน อย่างนั้นเรากลับไปเดินตามสิ่งที่ฝัน และเตรียมตัวเป็นสถาปนิกดีกว่านะ…
จบตอนที่ 1
อ่านตอนต่อไป
1 thought on “Equinox : ความฝัน และ โลกใหม่”