กำแพงเบอร์ลิน (Berliner Mauer) เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเบอร์ลิน สหพันธรัฐเยอรมนี แต่ซากกำแพงคอนกรีตที่ดูเหมือนเป็นแค่เศษปูนนั้น มีความหมายมากกว่าการเป็นเพียงพื้นที่ให้กับผลงานกราฟิตี้ที่ได้เห็นในปัจจุบัน
มากกว่าแค่กำแพง
กำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์ของอดีตสงครามเย็น (1947 – 1991) ที่หลงเหลืออยู่นั้น เป็นเพียงแท่งคอนกรีตสูงด้านบนถูกปิดด้วยแผ่นเหล็กโค้งมน แต่แท้จริงแล้ว “ชิ้นส่วน” ของสิ่งก่อสร้างดังกล่าวนี้ไม่ได้มีเพียงกำแพงยาวสุดลูกหูลูกตาเพียงเท่านั้น “ผู้หลบหนี” ยังต้องได้เจอกับสารพัดการปิดกั้น ขวากหนามในคอมมูนิตี้ของกำแพงเบอร์ลิน หรือที่เรียกว่า Grenzstreifen (border strip)
หนี
ในตอนนั้น สิ่งที่ผู้ที่ต้องการจะ “หนี” จากเบอร์ลินตะวันออกมาสู่อิสระภาพในฝั่งตะวันตกนั้นได้เจออย่างแรก คือ รั้วกำแพงชั้นแรกสูงราว 3 เมตร ถ้าปีนข้ามได้ก็จะต้องผ่านรั่วไฟฟ้าแรงสูง ที่ด้านล่างเป็นแผ่นหนามเหล็ก โดยมีทหารยามติดอาวุธและสุนัขคอยเดินตรวจตรา หากเล็ดรอดไปได้ ก็ยังไม่พ้นกันสอดส่องจากหอคอยสูงด้านบน รวมทั้งเหล่านายพล นายทหารพร้อมยานพาหนะวิ่งสังเกตการณ์
ถ้ามีความสามารถผ่านไป ผู้หลบหนีด้วยการเดินก็จะยังทิ้งรอยเท้าไว้ที่แผงพื้นทราย สุดท้ายก็จะโดนยิงจากทหารเฝ้ายามบนหอคอยเพราะมีเสาไฟสว่างจ้าถูกติดตั้งตลอด เขตแนวกั้น แต่หากหนีกระสุนปืนทัน ก็ไม่น่าจนพ้นหลุมที่ขุดลึกไว้ และด่านสุดท้าย ก่อนเข้าเขตเบอร์ลินตะวันตกคือกำแพงคอนกรีตดังที่เหลือให้เห็นในปัจจุบันนี้
ระหว่าง – ข้างใน กำแพงเบอร์ลิน
สิ่งที่ต้องเจอ หากคิดจะหนีออกจากเบอร์ลินตะวันออก (Ost-Berlin)
- Hinterlandmauer : กำแพงคอนกรีตสูงราว 3 เมตร กำแพงชั้นแรกที่กั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันออก – เบอร์ลินตะวันตก
- Signalzaun : รั้วหนามไฟฟ้าความสูง 3 เมตร ที่จะส่งเสียงเตือนทหารเฝ้ายามว่ามีคนพยายามจะหนี
- Flächen- und Höckersperren : แบร์ริเออร์ลวดหนามขวางการเคลื่อนไหว
- Beobachtungsturm (B-Turm) : หอคอยสังเกตุการณ์ที่มีทหารเฝ้ายามติดอาวุธจำนวน 4-5 นาย
- Hundelaufanlagen/ Mauerhunden : ระหว่างหอคอยสังเกตุการณ์และแบร์ริเออร์ลวดหนาม รวมทั้งพื้นที่ระหว่างกำแพงคอนกรีตกับรั้วหนามไฟฟ้านั้น มีนายทหารพร้อมอาวุธลาดตระเวนพร้อมสุนัขคอยตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ถึง 200 เมตร
- Lichttrasse/ Beleuchtungsanlage : แนวเสาไฟฟ้าแรงสูงสอดส่องผู้หลบหนี
- Kolonnelsweg/ Postenweg : แผ่นคอนกรีตที่วางอัดแน่นบนพื้นดินสำหรับยานพาหนะวิ่งตรวจตราตลอดแนวกำแพงเบอร์ลิน
- Kontrollstreifen : เส้นทางที่โรยทรายไว้ หากมีใครข้ามพรมแดนก็จะทิ้งรอยเท้าไว้ให้เห็น
- Kfz Sperre/ Kfz Graben : หลุมลึก 5 เมตรป้องกันการข้าม ทั้งทางเท้า หรือพาหนะ
- Grenzmauer : กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3.6 เมตร ด้านบนเป็นแผ่นเหล็กทรงโค้งมนยากแก่การปีนข้าม
หากสามารถผ่านทั้งหมดนี้มาได้ ก็จะได้พบกับอิสรภาพ ชีวิตที่ดีกว่าใน เบอร์ลินตะวันตก (West-Berlin)
ก่อนและหลังกำแพงเบอร์ลิน
- กันยายน 1939 เยอรมนีบุกโปแลนด์ ถือเป็นจุดเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2
- พฤษภาคม 1945 เยอรมนีประกาศยอมแพ้
- กันยายน 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
- พฤษภาคม 1952 โซเวียตประกาศปิดพรมแดนระหว่างเยอรมนีตะวันออก – ตะวันตก
- สิงหาคม 1961 สร้างกำแพงเบอร์ลิน เพื่อปิดพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออก – ตะวันตก
- พฤศจิกายน 1989 สิ้นสุดกำแพงเบอร์ลิน
- ตุลาคม 1990 เบอร์ลิน และเยอรมนีรวมเป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งฝั่งอีกต่อไป
กำแพงเบอร์ลิน คือสิ่งก่อสร้างที่แบ่งแยกเมืองหลวงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีออกจากกัน แต่เบอร์ลินและเยอรมนีถูกตัดออกเป็นสองฝั่งมาตั้งแต่ก่อนมีกำแพงเบอร์ลินแล้ว แต่การก่อสร้าง “กำแพง” ที่แบ่งแยกเบอร์ลินยาวนานเกือบสามสิบปีนั้น เป็นผลจากการที่เยอรมนี หนึ่งในผู้นำหลักของสมาชิก “ฝ่ายอักษะ” (Axis หรือ Achsenmächte ในภาษาเยอรมัน) ประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อ “กองทัพแดง” แห่งสหภาพโซเวียตเข้ายึดกรุงเบอร์ลินได้ในเดือนพฤษภาคม ปี 1945
“ผู้ชนะสงคราม” หรือ “ฝ่ายพันธมิตร” (Allies หรือ Allierte ในภาษาเยอรมัน) ทั้งสี่ชาติประจำทวีปยุโรป คือ สหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ได้เข้ามามีบทบาท “แบ่งอำนาจ” และ “แบ่งเขตการดูแล” ในเยอรมนีเป็นสองฝั่งตะวันตก – ตะวันออก โดย “เบอร์ลิน” อดีตศูนย์บัญชาการกองกำลังสำคัญของพรรคนาซี ก็ถูกแบ่งแยกการปกครองเป็นสองฟากด้วยเช่นกัน นั่นคือ – เบอร์ลินตะวันตก ในเขตการปกครองของ สหรัฐฯ, บริเตนฯ และฝรั่งเศส ส่วนเบอร์ลินตะวันออกนั้นเป็นพื้นที่ของสหภาพโซเวียต
ทว่า ทั้งสี่ประเทศนั้นร่วมมือกันได้ไม่นานก็มีความระหองระแหงกันมากขึ้น ความตึงเครียดระอุดุเดือดเมื่อง สหรัฐฯ บริเตนฯ และฝรั่งเศส ผู้ดูแลเยอรมนี และเบอร์ลินตะวันตกรวมตัวกัน ปล่อยให้ฝ่ายโซเวียตแห่งฝั่งตะวันออกต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเคียดแค้น สี่อำนาจแห่งฝ่ายพันธิมิตรแตกคอกันในที่สุด ความหมางเมินกันนี้ดำเนินไปถึงสิบกว่าปี จนมาถึงวันที่กองทัพแดง “โซเวียต” โกรธจัดและสร้าง “กำแพงเบอร์ลิน” ขึ้นมาเพื่อกดดันสหรัฐฯ บริเตนฯ และฝรั่งเศส ในเช้ากลางเดือนสิงหาคม ปี 1961
ฝ่ายโซเวียตไม่ได้สร้างกำแพงเบอร์ลินในครั้งเดียว แต่ค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนและระยะทางขึ้นทีละน้อย การก่อสร้างดำเนินไปถึงสิบกว่าปีจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 1975 เป็นความยาวรวมทั้งสิ้น 160 กิโลเมตร ตลอดการตั้งอยู่ของกำแพงเบอร์ลิน ระหว่างปี 1961-1989 มีประชาชนอย่างน้อย 140 รายเสียชีวิต หรือถูกสังหารที่นี่ อีกอย่างน้อย 260 คนเสียชีวิตระหว่างการพยายามหลบหนีข้ามพรมแดน ภายใต้คำสั่ง “อนุญาตให้ยิง” (Schießbefehl) แต่อย่างนั้นแล้ว ก็มีหลายพันชีวิตที่หลบหนีจากเบอร์ลินตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกได้สำเร็จ.
เยี่ยมชมกำแพงเบอร์ลิน
East Side Gallery
- กำแพงเบอร์ลินความยาว 1.3 กิโลเมตร ถือเป็น open-air gallery ยาวที่สุดในโลก
- บริเวณกำแพง เข้าชมฟรีได้ทุกวัน
- การเดินทาง : รถไฟฟ้า รถใต้ดิน สถานี Warschauer Straße และ รถไฟฟ้าสถานี Ostbahnhof
- ข้อควรระวัง : ทางเดินริมถนนค่อนข้างแคบ
- Mühlenstraße, 10243 Berlin
Berlin Wall Monument: Topography of Terror
- ส่วนแสดงนิทรรศการในอาคาร ด้านนอก และบางส่วนของกำแพงเบอร์ลิน
- นิทรรศการถาวรด้านในเล่าเรื่องความหวาดกลัวในเยอรมนีระหว่างปี 1933 – 1945 รวมทั้งเหตุการณ์ที่พรรคนาซียังเรืองอำนาจจนถึงวาระสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
- เปิดให้ทำการทุกวัน ระหว่าง 10 – 20:00 นาฬิกา เข้าชมฟรี
- การเดินทาง รถไฟฟ้า สถานี Anhalter Bahnhof หรือ Potsdamer Platz, รถใต้ดินสถานี Kochstraße หรือ Potsdamer Platz
- Niederkirchnerstraße 8, 10963 Berlin
Gedenkstätte Berliner Mauer: Bernauer Straße
- เส้นทางและประวัติศาสตร์ของกำแพงเบอร์ลินตั้งแต่เริ่มต้น
- สถานที่รำลึก อนุสรณ์สถาน และประติมากรรมและศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลิน
- แนวรั้วกำแพงเบอร์ลิน เข้าชมฟรีได้ทุกวัน เวลา 8 – 22:00 นาฬิกา
- การเดินทาง : รถไฟใต้ดินและรถราง สถานี Bernauer Straße, รถไฟฟ้าและรถราง สถานี Nord Bahnhof
- ข้อควรระวัง : สถานที่ค่อนข้างใหญ่ ควรเผื่อเวลาในการเข้าชม
- Bernauer Straße 111, 13355 Berlin
อ้างอิง
- https://www.lpb-bw.de/mauerbau
- https://www.stiftung-berliner-mauer.de/de/themen/die-berliner-mauer
- https://www.berlin.de/tourismus/insidertipps/1757657-2339440-mauer-in-berlin-wo-sie-noch-steht.html
- https://www.bundesregierung.de/breg-de/themen/deutsche-einheit/die-mauer-ist-offen–403858
- https://www.tagesspiegel.de/berlin/der-geharkte-todesstreifen-6791905.html