รู้หรือไม่ว่า
เบอร์ลินและเยอรมนีถูกแบ่งแยกเป็นสองฝั่งตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง “กำแพงเบอร์ลิน” แล้ว
บทความ “เหตุการณ์ก่อนกำแพงเบอร์ลิน” นี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนแปล และสรุปใจความบางส่วนของข้อมูลประวัติศาสตร์จากหลากหลายเว็บไซต์ แล้วนำมาผสมผสานจินตนาการเมื่อครั้งได้ไปเยือนอนุสรณ์สถาน Airlift Memorial หรือ Luftbrückendenkmal ในอดีตเบอร์ลินตะวันตก
1945
คนแพ้ เกมไม่จบ
สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 เยอรมนียอมจำนนต่อโลกและถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วนภายใต้การดูแลของสี่ประเทศจากฝ่ายพันธมิตร ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา
- บริเตนใหญ่
- ฝรั่งเศส และ
- สหภาพโซเวียต
เรียกว่า Allied Kommandatura (Alliierte Kommandantur)
เบอร์ลิน เมืองหลวงแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (ไรช์เยอรมันใหญ่ หรือ Großdeutschland เป็นชื่อทางการในขณะนั้น) ที่ตั้งอยู่ฟากตะวันออกของประเทศ อันเป็นเขตปกครองของสหภาพโซเวียตนั้นเกิดภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกแบ่งย่อย ซอยออกเป็น 4 ภาค ด้วยฝ่ายพันธมิตรอ้างว่า ต้องการปราบปราม ตีกรอบขั้วอำนาจเยอรมันเก่าให้อยู่หมัด มิให้เล็ดรอด โบกสะบัดทางการทหารไปรุกรานทำร้ายใครได้อีก
4 ส่วน 4 พลัง (จริงหรือเปล่า?)
เบอร์ลิน เมืองแห่งหมี กลายเป็นพื้นที่ 4 ชิ้น (Berlin Vier Sektoren)
- สหรัฐฯ บริเตนฯ ร่วมกับฝรั่งเศสจับมือกันแน่นที่แผ่นดินภาคตะวันตก (West – Berlin)
- สหภาพโซเวียต รับตำแแหน่ง “หัวหน้าใหญ่” แห่งฝั่งตะวันออกของเบอร์ลิน (Ost – Berlin)
แม้จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังมือที่จับแม่นมั่นในฝ่ายปกครองเบอร์ลินตะวันตกนั้นน่ะ มีทั้งหยิก ทั้งจิก ทั้งถีบกันเป็นพัลวันจากความตึงเครียดตั้งแต่ก่อนสิ้นสงครามแล้วว่าพี่ๆ ลุงและน้าจะตกลง จะเจรจาการจัดอย่างไรกับเรื่องปากท้อง รวมทั้งเศรษฐกิจยุโรปให้ฟื้นตัว และแน่นอน อนาคตของเยอรมนี
1946 – 1948
ปล่อยมือฉัน
ฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต “ปฏิเสธ” แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาเสนอต่อที่ประชุม แต่บริเตนฯ ไม่คิดเช่นนั้น ขอร่วมรวมมือกันให้เป็นฝั่งเป็นฝา เกือบสองปีถัดมา ฝรั่งเศสเปลี่ยนใจไปซบอกเป็น “ผู้นำสามท่าน” (Trizone หรือ Trizonesien) และนับแต่นั้นคำสัญญาแห่งฝ่ายพันธมิตรทั้งสี่เสื่อมสะบั้น สหภาพโซเวียตขอแยกวง แยกตัวขาดจากกัน ปี 1948 กลุ่ม Allied Kommandatura ไม่มีอีกแล้ว
1948 – 1949 : Berlin Blockade : การปิดล้อมเบอร์ลิน
โกรธ!
กลางปี 1948 สหรัฐฯ และบริเตนฯ แต่งตั้งเงินสกุลใหม่ หรือ Deutsche Mark (DM หรือ D-Mark หรือ เด-มาร์ก) สำหรับใช้จ่ายในเบอร์ลินตะวันตกอย่างลับๆ แต่สหภาพโซเวียตดันจับได้ ทั้งแค้น ทั้งเจ็บใจจึงสร้างเงินสกุลของตัวเองขึ้นมาซะเลยสำหรับเบอร์ลินตะวันออกและเยอรมันตะวันออก โดยเรียกว่า Ostmarkt (Ost แปลว่า ตะวันออก)
ในวันเดียวกันนั้น ฝ่ายสหภาพโซเวียตผู้โกรธจัดได้ทำการบล๊อกถนน ปิดทางรถไฟและกั้นเส้นทางน้ำไม่ให้ใครหน้าไหนเข้าฝั่งเบอร์ลินตะวันตกได้ ส่งผลให้พลเรือนที่ในเบอร์ลินตะวันตกกว่า 2 ล้านคนถูกตัดขาดทางอาหาร ไฟฟ้าและของใช้ในการดำรงชีวิตโดยทันที
การกดดันจากทีมตะวันออกนั้นมีจุดหมายหวังให้ “ผู้นำสามท่าน” บริเตนฯ ฝรั่งเศส รวมทั้งนายอเมริกัน ล้มเลิกและละทิ้งเบอร์ลิน เพื่อในที่สุดแล้ว โซเวียตจะผู้มีอำนาจเหนือ “เมืองหมี” ทั้งสองฝั่งแต่เพียงผู้เดียว
มาจากฟ้า มาเหนือเมฆ
ทว่า ความหวังยังไม่สูญสิ้น ยังเหลือหนทางให้สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรส่งความช่วยเหลือส่งของจำเป็น อาหาร ถ่านหินเพื่อการยังชีพแก่ผู้ที่อยู่อาศัยรวมทั้งเหล่าทหารในฝั่งตะวันตกจากฟ้า ผ่านเส้นทาง “ทางอากาศ”
ปฎิบัติการ Berlin Airlift (Berlin Luftbrücke) เริ่มขึ้น 2 วันหลังจากโซเวียตทำการปิดแยกเบอร์ลิน โดยกองทัพอากาศสหรัฐและบริเตนฯ ระดมพลทางอากาศ บวกกับ *รวมทั้งลูกเรือจากประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์และแอฟริกาส่งเครื่องบินลำเลียงเสบียงจากฐานทัพอากาศสหรัฐ Rhein-Main Air Base เมืองแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt am Main) และ Celle Air Base (Heeresflugplatz) ทางเหนือของเมืองฮันโนเฟอร์ (Hannover) มุ่งหน้าสู่สนามบินเทมเพลโฮฟ (Flughafen Tempelhof) ในเขตเบอร์ลินตะวันตก
Tempelhof : เทมเพลโฮฟ
แผนของฝ่ายโซเวียตเริ่มระส่ำระส่าย จึงออกข่าวว่ามีการ **“แจกอาหารฟรี” สำหรับผู้ที่ข้ามไปฝั่งตะวันออก แน่นอนว่า เป็นการเชื้อชวนที่ไม่เกิดผลสำเร็จเท่าไหร่ เมื่อนานเข้าความขายหน้ายิ่งเริ่มประจักษ์ชัด กองทัพอากาศของสหรัฐและบริเตนฯ ขนของผ่านเครื่องบินอย่างแข็งขัน ประชาชนที่นั่นจะต้องไม่อด ขนาดที่ว่า มีเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเทมเพลโฮฟทุกๆ 2-3 นาที
การปิดกั้นเบอร์ลินของโซเวียตสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ปี 1949 รวมทั้งสิ้น 322 วัน โดยปฎิบัติการ Berlin Airlift (Berlin Luftbrücke) ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนถึงเดือนกันยายนในปีเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่าของใช้เหล่านั้นจะมีมากพอสำหรับทุกคน
1 เดือนก่อนที่โซเวียตจะยกเลิกการปิดกั้นเบอร์ลินนั้น ในวันที่ 4 เมษายน ปี 1949 กลุ่มพันธมิตรได้ก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือ นาโต (NATO) ขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อผนึกกำลังทางทหารในการป้องกันภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต
เบอร์ลิน ไม่เคยลืม
มีลูกเรือจำนวน 101 คนเสียชีวิตระหว่างปฎิบัติการ Berlin Airlift (Berlin Luftbrücke) ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกต่อผู้จากไประหว่างเหตุการณ์นี้
Luftbrückendenkmal ถือเป็นอนุสาวรีย์ของเมืองแห่งแรกที่เป็นตัวแทนของยุคหลังสงคราม งานคอนกรีตสูง 20 เมตร 3 แฉกเป็นตัวแทนของสามเส้นทางบินจากสามพันธมิตรออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน Eduard Ludwig ชิ้นนี้ถูกติดตั้งที่เบอร์ลินเมื่อปี 1951 ณ ลาน Platz der Luftbrück ใกล้กับอดีตสนามบินเทมเพลโฮฟ ที่ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสาธารณะ และลานบินเดิมได้ถูกใช้สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน คอนเสิร์ต ฯลฯ
ในปี 1985 และ 1988 งาน Luftbrückendenkmal ได้ถูกผลิตเพิ่มอีก 2 ชิ้นเพื่อนำไปติดตั้งที่ฐานทัพอากาศ Rhein-Main Air Base เมืองแฟรงก์เฟิร์ต และ Celle Air Base ทางเหนือของเมืองฮันโนเฟอร์
1952
4 ส่วน 2 พลัง 2 ดินแดน
ชะตากรรมของเยอรมนียังไม่มีแววจะดีขึ้น เมื่อสี่ขาใหญ่ปล่อยมือ จากที่เคยเป็นสี่ ก็เหลือเพียงสอง ในปี 1952 รัฐบาลฝั่งเยอรมันตะวันออกสั่งปิดพรมแดน ตะวันตกต้องแยกออกจากตะวันออก เยอรมนีถูกแยกและมีชื่อเรียกกันใหม่ นั่นคือ
- “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” หรือ Federal Republic of Germany (FRG) ภาษาเยอรมันคือ Bundesrepublik Deutschland (BRD) ปกครองฝั่งตะวันตกโดยสหรัฐอเมริกา เกรทบริเตน ฝรั่งเศส ครองฝั่งตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก Deutsche Demokratische Republik (DDR) หรือ German Democratic Republic (GDR) “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี” อยู่ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต
เยอรมนี กลายเป็นสองฝั่ง สองการปกครอง สองขั้วอำนาจอย่างเป็นทางการ
1953 – 1961 : หนี
เกิดการประท้วงทั่วเมืองเบอร์ลินตะวันออก ผู้คนตบเท้าลงถนน การจราจลเกิดขึ้นทุกแห่งหน แต่ผู้ปฏิเสธอำนาจปกครองที่ย่ำแย่นั้นถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากทหารโซเวียต มีผู้บาดเจ็บและแน่นอน เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
เมื่อไม่อาจเอาชนะ “ผู้มีอำนาจ” ได้ในครั้งนั้นส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากตัดสินใจทิ้งเบอร์ลินตะวันออก ว่ากันว่า มีผู้คนกว่า 10 ล้านคนย้ายไปยังฝั่งตะวันตกระหว่างปี 1953 – 1961
1961 : Berlin Crisis of 1961 : วิกฤติการเบอร์ลิน
เบอร์ลิน – กำแพงเบอร์ลิน
ฤดูร้อน ปี 1961 ชาวเมืองเบอร์ลินทั้งสองฝั่งผู้กำลังหลับใหล กลับต้องตกใจเมื่อตื่นเช้ามาและพบว่า มีรั้วหนามแบ่งตะวันออกออกจากตะวันตกอย่างแน่นหนา ไม่กี่วันถัดมา อาจจะราว 1 สัปดาห์ก็มีการสร้างกำแพงเพิ่มขึ้นพร้อมป้อมสังเกตการ มีทหาร ตำรวจสอดส่องตรวจตราไม่ให้ใครเข้า-ออกได้
ก่อนหน้านี้ ผู้คนสามารถข้ามฝั่งไปมา บ้านอยู่ตะวันตกไปทำงานที่เขตตะวันออกห้องพักอยู่ฝั่งตะวันออก ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนด้านตะวันตกได้อย่างอิสระ แต่เช้าวันที่ 13 สิงหาคม สิ่งเดิมๆ เหล่านั้น ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติอีกแล้ว ไม่ว่าจะทางเท้า ทางถนน ทางรถไฟ พายเรือ หรือทางอากาศ
“สหภาพโซเวียต” ฝ่ายผู้ปกครองเบอร์ลินตะวันออกตระหนักถึงการอพยพหมู่ครั้งใหญ่ จึงสร้าง “กำแพงเบอร์ลิน” ขึ้นเพื่อกั้นไม่ให้ใครหน้าไหนหนีออกจากเขตตะวันออกของตนไปได้อีก อย่างนั้นแล้ว มีบันทึกไว้ว่าระหว่างปี 1961 – 1989 ประชาชนกว่า 5000 ชีวิตสามารถคิดค้นวิธีหลบหนีจากฝั่งตะวันออกมาได้ แต่ก็มีผู้โชคร้าย ถูกคร่าเอาชีวิตไปอย่างน้อย 140 คน จากการพยายามข้ามกำแพงคอนกรีตนี้
รอยแผลบนแผ่นกำแพงเบอร์ลิน
“กำแพงเบอร์ลิน” มีความยาวทั้งหมดกว่า 150 กิโลเมตร และดำรงอยู่เกือบ 30 ปี เพื่อแยกเมืองหลวงของเยอรมนีออกเป็น 2 ฝั่ง “บางส่วน” ของอดีตสิ่งก่อสร้างทางอำนาจ อีกหนึ่งผลผลิต สัญลักษณ์หลักฐานของ “สงครามเย็น” นั้นถูกทำลายลง เรื่องราวที่คนอยากลืม บางคนอยากจดจำก็จบลงพร้อมกับเศษคอนกรีตและซากรั้วเหล็กในเดือนพฤศจิกายน ปี 1989.
2 thoughts on “Berlin : เบอร์ลิน ก่อนกำแพงเบอร์ลิน”