เที่ยวเบอร์ลิน มีที่ไหนน่าสนใจบ้างนั้นสามารถหาข้อมูลได้ไม่ยาก แต่นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม จุดชมวิว ถ่ายรูป ร้านอาหารน่าสนใจในเบอร์ลินแล้ว สิ่งที่ฉัน- ผู้ที่อยู่ที่นี่มากว่าสิบปีแล้ว- อยากแนะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการมาเยือนเยี่ยมชมเมืองหลวงของประเทศเยอรมนี ดังนี้:
เงิน เงิน เงิน
เที่ยวเบอร์ลินให้พกเงินสด และเหรียญบ้าง
หลายพื้นที่ของเยอรมนียังเป็นสังคมเงินสดในเบอร์ลินมีร้านขายของชำ (Späti) ร้านอาหารหลายที่ ที่รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น บางร้าน บางซูเปอร์มาร์เก็ตรับจ่ายด้วยบัตรเมื่อมีการซื้อขั้นต่ำ 5 หรือ 10 ยูโร (แต่มีบัตรเครดิตไว้ด้วยก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะบางทีเครื่องซื้อตั๋วรถไฟพังๆ ก็มี)
ควรมีแบงก์ย่อยอย่าง 20 ยูโร, 10 ยูโร หรือ 5 ยูโร ติดตัวไว้ (50 ยูโร ก็ยังพอไหว) ส่วนเหรียญเอาไว้จ่ายเงินเข้าห้องน้ำสาธารณะ (50 เซ็นต์ บางที่ก็ 2 ยูโร) หรือสำหรับหยอดตู้ซื้อตั๋วรถไฟ
กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม
กดจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารดีกว่า แนะนำว่าควรใช้เครื่องที่อยู่ในอาคาร เพราะมีความปลอดภัยกว่าตู้กดเงินทั่วไปที่ตั้งโดดเดี่ยวบนทางเท้า หรือ Euronet Geldautomat ซึ่งตู้ประเภทนี้ ฉันคิดว่าไม่ค่อยน่าไว้ใจและอาจเสียค่าธรรมเนียมแพงกว่าปกติ (ใช้บัตรเอทีเอ็มของเยอรมันกดเงินแล้วต้องจ่ายเพิ่มอีกราว 5 ยูโร)
ธนาคารในเบอร์ลิน ได้แก่ Postbank, Commerzbank, Deutsche Bank, Sparkasse, Sparda-Bank, Volks- und Raiffeisenbank, HSBC Deutschland, ING เป็นต้น
กิน กิน กิน
ซูเปอร์มาร์เก็ต
เหมาะสำหรับซื้อของกินสำเร็จรูป เช่น แซนด์วิช สลัด ขนมปัง ซูเปอร์ฯ อย่าง REWE, Edeka สาขาใหญ่ๆ ในเบอร์ลินมีสลัดบาร์ให้ตัก คิดราคาตามน้ำหนัก บางที่มีข้าว ข้าวผัด สปาเกตตี้ ไก่ทอด รสชาติอาจไม่หวือหวา แต่ก็เป็นอีกช่องทางในการหาซื้ออาหารราคาไม่แพงนัก เวลาเปิด อยู่ระหว่าง 7 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่มบ้าง บางที่ก็ดึกหน่อย เปิดยาวไปถึง 3-4 ทุ่ม และ “เกือบทุกที่” ปิดวันอาทิตย์
ร้านอาหาร
เบอร์ลินอาหารเยอะ มีทุกอย่าง ไทย จีน เอเชีย แขก อาหรับ ฝรั่ง มีให้เลือกมากมาย แต่ขอให้ทำใจ หากเข้าร้านซูชิ หรือร้านสัญชาติเวียดนาม แม้จะมีอาหารไทยขายแต่ก็อย่าหวังเยอะ
ร้านโชว์ห่วย / ขายของชำ
ในเบอร์ลินเรียกว่า Späti (ชะ-เป-ตี้) หรือ Kiosk (คี-ออส) ส่วนใหญ่ขายเครื่องดื่ม ลูกอม ขนม หนังสือพิมพ์ บุหรี่ ฯลฯ
ข้อเสีย – มีราคาแพงกว่าปกติเกือบสองเท่า หากมีทางเลือก ควรไปซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ต
ข้อดี – เปิดวันอาทิตย์ บางที่มีมาม่าขายด้วยนะ
ซูเปอร์มาร์เก็ตในปั๊มน้ำมัน
คล้ายกับ Späti แต่มีของเยอะกว่า ราคาแพงเหมือนกัน แต่ก็เปิดวันอาทิตย์เช่นเดียวกัน
มาม่าในห้องพักโรงแรม
บางโรงแรมไม่มีกระติกน้ำร้อนให้แล้ว หากจะพกโจ๊กซอง มาม่าคัพมาด้วย ควรเช็คด้วยว่าห้องพักมีกระติกน้ำร้อนให้หรือไม่
น้ำดื่ม
น้ำก๊อกในเยอรมนีดื่มได้ก็จริง แต่ถ้ามีระบบช่องท้อง ระบบกรองของเสีย (ตับ ไต) ไม่ดีนัก ควรเลี่ยงน้ำก๊อก น้ำขวดที่นี่ไม่แพงมาก ขวดใหญ่ (700ml. – 1l.) ราคามีตั้งแต่ 50 เซ็นต์ ไปถึง 1,60 ยูโร (15-55 บาท) น้ำเปล่าคือ Still หรือ Naturelle แต่หากชอบน้ำซ่าแบบโซดาให้ซื้อขวดที่เขียนว่า Medium หรือ Sanft หรือ Classic
ซื้อ ซื้อ ซื้อ
พิพิธภัณฑ์ สถานที่สำคัญ
ถ้าทำได้ ควรซื้อตั๋วล่วงหน้าหากไม่ชอบต่อแถวหรือรอนาน เช่น Museum Island (Museumsinsel) และบางสถานที่อย่าง Reichstag (อาคารรัฐสภา) ต้องทำการจองวัน-เวลา เพื่อเข้าชม
ร้านอาหาร ห้าง ช้อปปิ้ง
ตรวจสอบวันและเวลาเปิดปิดให้ดี ในวันอาทิตย์ นอกจากร้านอาหารแล้วก็แทบไม่มีร้านรวงใดเปิดให้บริการ
ห้องน้ำสาธารณะ
ในห้างราคา 50 เซ็นต์ ส่วนร้านอาหาร ถ้าไปเป็นลูกค้าสามารถใช้ได้ แต่ถ้าไม่ อาจมีบ้างที่เจอร้านใจดีให้เข้าฟรี ไม่อย่างนั้นก็มีค่าเข้า 50 เซ็นต์ – 2 ยูโร
ไวไฟ
เบอร์ลินเป็นเมืองที่มีความสะดวกสบายหลายอย่าง ยกเว้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตและไวไฟ บางห้างและในสถานีรถไฟใต้ดิน (U-Bahn) มีไวไฟให้ใช้ฟรี แต่ใช้ได้เฉพาะในสถานี จะไม่มีสัญญาณในรถไฟ (เลือก username : BVG) ดังนั้นการเตรียมแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตมาจากเมืองไทยเลยน่าจะสะดวกกว่า
เดินทางในเบอร์ลิน
แท็กซี่
มีค่ามิเตอร์ เริ่มต้นที่ 4,30 ยูโร ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2,10 – 2,80 ยูโร (ข้อมูลปี 2023) สามารถจ่ายได้ด้วยทั้งเงินสดและบัตรเดบิต บัตรเครดิตก็ “น่าจะ” ใช้จ่ายค่าแท็กซี่เช่นเดียวกัน และค่ารถแท็กซี่ไปสนามบิน “เริ่มต้น” ที่ 40-50 ยูโร แล้วแต่ระยะทาง
รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน
เป็นการเดินทางที่ง่ายและสะดวกที่สุด เส้นทางรถไฟในเบอร์ลินแบ่งเป็นโซน A, B และ C (เรียกว่า Tarifzonen) โดยโซน A คือกลางเมือง และ C คือไกลที่สุด ตั๋วใบเดียวกันนี้ สามารถใช้ได้กับรถใต้ดิน (U-Bahn) รถไฟฟ้า (S-Bahn) รถเมล์ (Bus) และรถราง (Tram/ Straßenbahn) นั่นคือ หากเดินทางด้วย “รถไฟฟ้าสาย S9” แล้วเปลี่ยนขบวนเพื่อขึ้น “รถใต้ดินสาย U8” ไม่ว่าจะซื้อจากรถไฟใต้ดิน หรือรถไฟฟ้าก็ซื้อแค่ครั้งเดียว แล้วเดินทางได้ตามเงื่อนไขของตั๋วได้เลย
ประเภทตั๋วสำหรับมาเที่ยวเบอร์ลินระยะสั้น
- ตั๋วระยะสั้น (Kurzstrecke) โดยเดินทาง 3 สถานีรถไฟ หรือ 6 สถานีรถเมล์
- เที่ยวเดียว (Einzelkarte)
- ตั๋ววัน (24-Stunden-Karte / Tageskarte)
- ตั๋วกรุ๊ป (24-Stunden-Karte Kleingruppe) และ
- ตั๋วรายสัปดาห์ (7-Tage-Karte)
วิธีการซื้อทำได้ทั้งจาก:
- การดาวน์โหลดแล้วซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่น
- กดซื้อจากตู้ขายตั๋วในสถานี
- ซื้อจากพนักงานประจำสถานี (มีแค่สถานีใหญ่เท่านั้น เช่น Alexanderplatz)
- บางสถานีมีขายตั๋วในร้านขายของชำ (Späti) ด้วยเช่นกัน
ราคานั้นขึ้นอยู่กับว่าเดินทางในโซนไหน นั่นคือ AB, BC หรือ ABC เช่น หากจะเดินทางจากสนามบิน BER Berlin – Brandenburg (โซน C) เพื่อเข้ามากลางเมืองเบอร์ลิน (โซน A) ก็ต้องซื้อตั๋วประเภท ABC
จักรยานในรถไฟฟ้า และรถใต้ดิน
ถ้าจะพาจักรยานขึ้นรถไฟ ต้องซื้อตั๋วสำหรับจักรยานด้วย
สถานีรถไฟสำคัญ
Berlin Hauptbahnhof : Berlin Central Station (โซน A)
หากมาเที่ยว และเดินทางเข้า/ ออกเมืองด้วยรถไฟ นี่คือ “สถานีกลาง” สำคัญขนาดใหญ่ มีทั้งรถไฟระหว่างเมือง, รถไฟฟ้าและรถใต้ดิน ถ้าในตั๋วเดินทางเขียนว่า Berlin Hbf (tief) นั่นหมายถึง ชานชาลาที่จะขึ้น หรือ ลง คืออยู่ที่ชั้นใต้ดิน
Alexanderplatz (โซน A)
เป็นสถานีรถไฟใหญ่ ด้วยโลเคชั่นกลางใจเมืองเบอร์ลินจึงเป็นสถานีที่มักต้องมาเปลี่ยนสายขบวนรถไฟฟ้าและรถใต้ดินที่นี่
Berlin Gesundbrunnen, Berlin Ostbahnhof, Berlin Südkreuz (โซน A) และ Berlin Spandau (โซน B)
คล้ายกับสถานี Alexanderplatz แต่อยู่ออกนอกเมืองมากกว่า นอกจากรถไฟฟ้าและรถใต้ดินแล้ว สถานีเหล่านี้ ยังมีรถไฟระหว่างเมือง (ICE) วิ่งผ่านอีกด้วย
สิ่งที่ควรรู้
Hauptbahnhof ตัวย่อ HBF เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า สถานีรถไฟกลาง (central station)
Bahnhof ตัวย่อ Bhf หรือ Bf. แปลว่า สถานีรถไฟ (station, railway station)
สนามบินเบอร์ลิน
- สนามบินหลักในเบอร์ลิน ชื่อ Berlin Brandenburg มีตัวย่อว่า BER (โซน C)
- * สนามบินอีกแห่งคือ Berlin Schönefeld Flughafen ตัวย่อ SXF (โซน C)
สิ่งที่น่าสับสนนิดๆ ระหว่างสองสนามบินนี้ คือมีชื่อคล้ายกัน แต่ต่างกันที่ชื่อ Terminal
- สนามบิน SFX สถานีที่ต้องลงคือ Flughafen BER – Terminal 5 (Schönefeld)
- สนามบิน BER ลงสถานี Flughafen BER – Terminal 1-2 (S-Bahn) BER Berlin Brandenburg Airport หรือก็ได้เช่นกัน
หากต้องเดินทางจากในเมืองไปสนามบิน สามารถขึ้นรถไฟฟ้า (S-Bahn) สาย S9, รถไฟ RE, รถไฟ FEX สองสนามบินนี้อยู่ห่างกันสองสถานีรถไฟ ราคาตั๋วชั้น 2 เที่ยวเดียว ปัจจุบันอยู่ที่ 4 ยูโร/ คน
สิ่งที่ควรรู้
- * ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2023 สนามบิน Berlin Schönefeld Flughafen ได้ปิดให้บริการแล้ว
- Flughafen เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า สนามบิน (airport)
Berlin WelcomeCard
คือบัตรรวมมิตรระหว่าง ตั๋วรถไฟ ตั๋วเข้าพิพิธภัณฑ์ พ่วงด้วยส่วนลดราคาจากร้านอาหาร รถบัส Hop-on Hop-off Tour กิจกรรมบางประเภทที่เข้าร่วมรายการนั้น บัตร Berlin WelcomeCard มีหลายประเภทและเงื่อนไขแตกต่างกัน ราคาเริ่มตั้งแต่ 25 ยูโร
ความเห็นจากผู้เขียน
- น่าจะเหมาะกับคนที่เดินทางในเบอร์ลินโซน AB และเข้าพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 4 แห่ง
- บัตรนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ประหยัดที่สุดเสมอไป หากต้องการแวะไปเพียงไม่กี่ที่ ควรซื้อตั๋วรถไฟและตั๋วพิพิธภัณฑ์ ตามจำนวนครั้งดีกว่า
ก่อนมา
ฤดูที่แตกต่าง
ตรวจสอบช่วงเวลาที่จะมาเที่ยวในเบอร์ลิน เว็บไซต์ https://www.wetter.com/ มีความแม่นยำพอสมควรและสามารถตรวจสอบอากาศล่วงหน้าได้ 16 วัน
หน้าร้อน
เดี๋ยวนี้เริ่มที่กลางเดือนมิถุนายน ไปจนถึงสิ้นสิงหาคม ความร้อนที่นี่ ร้อนจริงจัง ร้อนเผาไหม้ แห้งแล้ง แห้งผาก แม้เคยชินกับอากาศร้อนจากเมืองไทย แต่ฉันคิดว่า นั่นไม่ได้ช่วยให้พวกเรา “ทนแดด” ได้มากนัก หลบเข้าห้างฯ หนีเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตอาจช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง แต่ในรถไฟ รถราง อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี บางขบวนคือตู้อบลมร้อนเคลื่อนที่เสียด้วยซ้ำ
หน้าหนาว
เริ่มที่ตุลาคม-พฤศจิกายน ช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
หลังจากนี้ก็หนาวขึ้น แม้ไม่เท่าแถบประเทศทางเหนือ แต่มืดเร็ว หนาวเย็น หารองเท้าพื้นหนาที่ใช้งานได้จริง รองเท้าบางคู่ที่ใส่สวย ถ่ายรูปขึ้น อาจไม่สามารถป้องกันอากาศเย็นได้ (และเจ็บเท้า) ควรพกกระดาษทิชชู่ไว้ด้วย ไว้ซับน้ำมูกที่ไหลตอนอากาศเปียกชื้น
หน้าฝน
ฝนเบอร์ลินไม่ดุดัน นานๆ ทีถึงจะลมแรงหรือฝนตกหนักมาก อย่างนั้นแล้ว ควรใช้ร่มที่แกนหนาและมั่นคง ส่วนใหญ่ฝนจะตกแบบงงๆ ในเดือนมีนาคม, เมษายน, สิงหาคม, ตุลาคม และพฤศจิกายน
วันหยุด
นอกจากวันเวลาเปิด-ปิดของห้างร้านแล้ว หากไม่ชอบเจอคนเยอะ ควรเช็ควันหยุดราชการ, วันหยุดโรงเรียน ของปีนั้นๆ ไว้ด้วย ช่วงปิดเทอมมีนักท่องเที่ยวเยอะ รถไฟระหว่างเมืองคนแน่นและอาจไม่ตรงเวลา
โหลดเลย!
แอปพลิเคชั่นสำหรับรถไฟ (ข้อมูลปี 2023)ได้แก่
- รถไฟฟ้า: VBB-App หรือ S-Bahn Berlin
- รถใต้ดิน, รถเมล์ และ รถราง: BVG Fahrinfo-App
- รถไฟระหว่างเมือง DB Navigator
คำแนะนำ
หากไม่ชอบความหวาดเสียว แนะนำว่าให้ “จองที่นั่ง” โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดยาว ที่มีคนเดินทางมากเป็นพิเศษ ตั๋วรถไฟชั้น 2 ต้องเสียค่าจอง แต่ขบวนชั้น 1 ถูกรวมอยู่ในราคาตั๋วเดินทางแล้ว สามารถเลือกที่นั่งได้เลยหากซื้อตั๋วรถไฟผ่านเว็บไซต์ หรือไปที่สถานีที่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
เมื่อมาถึงเบอร์ลิน
รถไฟ รถไฟ รถไฟ
- รถไฟใต้ดิน บางทีก็วิ่งบนดิน หรือลอยฟ้า
- รถไฟฟ้า บางทีก็วิ่งในอุโมงค์
- ประตูรถ บางทีเปิดเอง บางทีต้องกดเปิด
- ไม่ค่อยมีคนซีเรียสเรื่องต่อแถว เพราะถึงเข้าแถวก็ยังมีคนแซงอยู่ดี อย่างนั้นแล้ว “ส่วนใหญ่” จะรอให้คนด้านในออกมาก่อน
ไม่อยากใช้รถไฟ ไม่อยากขึ้นแท๊กซี่
เบอร์ลินเป็นอีกเมืองที่มี car sharing ให้บริการ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะรถยนต์เท่านั้น ยังมีทั้งจักรยาน, E-Scooter และ Elektro Roller / Scooter (หน้าตาคล้ายมอเตอร์ไซต์) แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น รอการยืนยันก็ซิ่งได้แล้ว
car sharing
ได้แก่ SIXT, Miles, ShareNow ต้องใช้ใบขับขี่ที่ใช้งานได้ในกลุ่มประเทศ EU, บัตรประจำตัว, PayPal หรือบัตรเครดิตในการสมัคร ผู้สมัครต้องอายุอย่างน้อย 18 ปี และมีใบขับขี่ที่มีอายุการใช้งานเหลือไม่ต่ำกว่า 1 ปี
Scooter
เช่น Emmy, Felyx, Tier มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับ car sharing เพียงแต่ “ต้องใส่หมวกกันน็อค” ทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน
E-Scooter
ได้แก่ Lime, Bolt, Voi, Bird, Tier
Bike Sharing จักรยาน
มีเยอะแยะหลายยี่ห้อให้เลือก เงื่อนไขและราคาก็ต่างกัน เช่น Tier, Lime, Donkey, Bolt, NektBike, Jelbi
*โปรดใช้เลนจักรยาน และห้ามขี่จักรยานบนทางเท้า (แต่ก็มีหลายคนทำอยู่ดี)
รู้หรือไม่
กำแพงเบอร์ลิน
มีทั้งของจริง และของไม่จริง ของจริงที่ยังอยู่ ไปดูได้ที่ https://www.visitberlin.de/de/blog/top-11-orte-um-reste-der-berliner-mauer-zu-sehen
Pride, always
เบอร์ลินเป็นหนึ่งในหลายๆ เมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ ทั้งกลางวันและความสนุกสนานหลังพระอาทิตย์ตก
ขาหมูเยอรมัน
มีแบบหนังกรอบ (อบ) เรียกว่า Schweinshaxe และหนังนิ่ม (ต้ม) คือ Eisbein (คล้ายกับคากิ)
Spaghettieis
ชื่อเหมือนอาหาร มันไม่ใช่สปาเกตตี้ แต่เป็นไอศครีม
Berliner
-อาจ-ไม่ได้แปลว่า “ชาวเบอร์ลิน” หากคือโดนัทไส้แยมผลไม้ แต่รู้หรือไม่ ชาวเบอร์ลิน-บางส่วน- เรียกขนมแป้งทอดชนิดนี้ว่า Pfannkuchen (หรือ Berliner Pfannkuchen)
ความเห็นจากผู้เขียนในการเที่ยวเบอร์ลิน
เบอร์ลิน
คนบ้าเยอะ คนเสียงดังก็เยอะ คนบ้าไม่น่ากลัว คนเดินไปเปิดเพลงเสียงดัง คนเดินไม่ใส่รองเท้าในหน้าร้อน คือธรรมดา
เดินชิดขวา และอย่าเดินบนทางจักรยาน
เบอร์ลินเป็นเมืองใหญ่ คนเยอะ วุ่นวายและรวดเร็ว อาจไม่ดุดันเท่าปารีส (รถใต้ดิน) เกรี้ยวกราดเท่าอัมสเตอร์ดัม (จักรยาน) แต่หากเป็นคนขวัญอ่อน ไม่ชินกับการตะคอก ก็ขอให้เดินชิดขวา และสังเกตทางจักรยานให้ดี เมื่อไม่แน่ใจว่าจะเดินไปทางไหน แนะนำให้ออกจากทางเดินหลัก หามุมสงบ สว่าง และสะอาดเพื่อเปิด google map อย่าหยุดคว้างกลางทาง เพราะอาจโดนชนได้
ทางม้าลายและไฟเขียว
เชื่อได้ ข้ามได้จริงเมื่อขึ้นไฟเขียวของคนข้าม หากไม่แน่ใจ อย่าฝ่าไฟแดง
เที่ยวเบอร์ลิน ระวังโจร
มีไม่เยอะ แต่ก็มีโจร แม้ไม่ดุร้ายเท่าในสเปน อิตาลี หรือฝรั่งเศส แต่ระวังตัว ระวังกระเป๋า อย่าเซลฟี่ฟุ่มเฟือย
ไม่เฟรนด์ลี่
อย่าซีเรียส คนที่นี่แค่ยิ้มยาก บางคนอาจหน้าบึ้ง แต่จริงๆ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้รำคาญและมีเซอร์วิสมายด์ มีใจให้บริการอย่างมหาศาลโดยปราศจากรอยยิ้ม
ไม่เฟรด์ลี่ แล้วยังโยนของ
อย่าถือสา การโยน เหวี่ยง ปัด เขวี้ยง เป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยไม่ชิน
นี่คือเบอร์ลิน
ออกเสียงว่า แบ-ลีน ในภาษาเยอรมัน สัญลักษณ์ประจำเมืองคือ หมี ที่ถูกแซวว่า arm, aber sexy เมืองที่ไม่หล่อแต่เร้าใจ (poor, but sexy) เมืองแห่งหมี เมืองหลวงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก็ยังคงเหลือร่องรอยลายทางเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโลกในยุคหนึ่ง เรื่องเล่า หลักฐานที่หลายคนอยากลืม ทว่า บางคน … ยังอยากระลึกถึง.