การไปไซต์ก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของสถาปนิก ทั้งในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ แต่มันเป็นงานที่ฉันไม่ชอบเอาเสียเลย แม้อาจเรียกว่าเป็นสถาปนิกได้ไม่เต็มปากเพราะยังไม่มีใบประกอบอาชีพ แต่เอาเป็นว่า อาชีพของฉันคือพนักงานบริษัท ตำแหน่งสถาปนิก และทำงานในเบอร์ลินมากว่า 10 ปีแล้ว
เพื่อให้คนจากสายงานอื่นเห็นภาพง่ายๆ ของ การทำงานของสถาปนิกในเบอร์ลิน (รวมทั้งเยอรมนี) หน้าที่รับผิดชอบแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- ด้านพัฒนาแบบ – ออกแบบ (Vorentwurf, Entwurfsplanung) กับ
- งานทำแบบก่อสร้าง (Ausführungsplanung)
- ทำเฉพาะแบบก่อสร้าง
- ทำแบบก่อสร้าง ต่อเนื่องไปจนจบการก่อสร้าง
ซึ่งในกรณีที่ทำแบบก่อสร้างไปจนจบการก่อสร้างนั้น จะคาบเกี่ยวไปกับการดูหน้างานก่อสร้างไปด้วย ซึ่งงานที่ฉันทำปัจจุบันนี้ก็คือส่วนนี้นี่ล่ะ และมีประสบการณ์ด้านนี้มาราว 6 ปี
ไซต์ก่อสร้าง
การไปไซต์ (construction site หรือ die Baustelle) สำหรับฉัน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
- ไปเพื่อเจอปัญหา และแก้ปัญหาตรงนั้น ซึ่งข้อนี้เป็นการทำงานที่ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าเสือ สิงห์ กระทิง ช้างป่า เพราะบรรดาเหล่าพนักงานประจำเขตก่อสร้างที่ฉันเห็นนั้น มักดุดัน ดื้อ โวยเก่ง ต่อต้าน และไม่ยอมเปลี่ยนใจกันง่ายๆ
- ไปเพื่อเจอ และบันทึกปัญหาที่ถูกสร้าง หรือกำลังจะสร้าง … หากมี (ซึ่งมีเสมอ) ก็กลับบริษัทไปแก้แบบ หาทางออกกับทีมที่บริษัท
ฉันน่ะเกลียดการไปไซต์งานที่สุด แต่ด้วยอะไรบางอย่าง ฉันเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยที่ถูกเลือก ถูกส่งให้ไปหน้างานบ่อยที่สุด ไม่รู้เพราะมันเป็นอย่างนั้นไปเอง หรือเพราะเรามันเก่งเหมาะสมกับงานก็ไม่อาจตอบได้ อย่างนั้นแล้ว ยังมีโชคดีที่มีความบังเอิญอยู่บ้าง คือเป็นการไปไซต์แบบที่ไม่ต้องไปตบตีรบรากับใคร หากแต่เป็นการไปตรวจ ไปวัด ไปดูหน้างานเสียมากกว่าว่า สร้างถูกไหม ถ้าผิดจะทำยังไง หรือ สร้างไปแล้วมีขนาดกว้างยาวเท่าไหร่แล้วจะนำมาบูรณะใหม่แบบไหนได้บ้าง
สิ่งที่เจอ
การไปไซต์งาน เป็นความรับผิดชอบที่ใช้ทักษะอย่างมาก ทั้งประสบการณ์การก่อสร้าง วิธีเจรจา การโน้มน้าวที่มีประสิทธิภาพ ความจำที่แม่นยำ ต้องเตรียมตัวอย่างดี ทั้งการแต่งกาย อุปกรณ์ และแบบเอกสารที่จำเป็น หยิบไปมากก็หนักและเกะกะ เตรียมไปไม่ครบก็เช็คหน้างานไม่ได้ หรือเตรียมกระดาษขนาดใหญ่ก็วุ่นวาย แผ่นเล็กไปก็มองไม่เห็น การไปไซต์งานถือเป็นวันที่วุ่นวายจนอยากมีมือไม้และสมองเป็นสองเท่า ไม่นับว่าอาจจะได้เจอ เสือ สิงห์ กระทิง ช้างป่า อีกด้วยน่ะนะ
ไซต์ก่อสร้าง : หน้าหนาวยิ่งหนาว
การไปไซต์งานระหว่างฤดูหนาวไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะหน้างานที่ยังมีแต่โครงสร้างหลักอย่างผนังปูน เสาเปลือย การอยู่แบบไร้เครื่องทำความอุ่นในวันที่อากาศติดลบเป็นการทรมานร่างกายอย่างยิ่ง
ครั้งหนึ่งในฤดูหนาว ฉันเคยไปดูตึกเก่าร้าง 4 ชั้นในเบอร์ลิน บางส่วนถูกปิดไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2000 ชั้นบนสุดเป็นฐานทัพนกพิราบ ทั้งนกเป็น และซากศพของมันอยู่แทบทุกมุมในอาคาร หลังคาด้านหน้าพังและกันฝนไม่ได้ พื้นไม้บางส่วนถูกรากัดจนผุทะลุถึงชั้นล่าง กระจกแตกเกือบทั้งหมด และชั้นใต้ดินชื้นมืดสนิทเหมือนคุก ไฟของไซต์สองดวงใหญ่ๆ ให้ความสว่างไม่ทั่วถึง ไฟฉายที่ติดตัวไป ช่วยให้มองเห็นแค่ 1 คืบข้างหน้าเพียงเท่านั้น แม้คนงานจะเคลียร์ทางเดินบ้างแล้ว แต่ก็ยังเหมือนอยู่ในฉากหนังผี
ความเหน็ดเหนื่อยน่ะไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่โหดสุดคือ “ความหนาว” ใส่เสื้อหนา คลุมปิดเกือบทั้งตัวเว้นแค่คิ้วถึงคางก็พอไหว แต่ที่ทนไม่ได้คือเท้า มันเย็นจนเดินไม่ได้ ต้องคอยพัก และไม่สามารถอยู่เกินสองชั่วโมงติดต่อกันได้
คนที่ทำงานหน้าไซต์งานก่อสร้างเป็นประจำ จึงมีวิธีและประเภทของเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งรองเท้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพอากาศและกฏข้อบังคับ
ไซต์ก่อสร้าง : หน้าร้อน ก็ใช่ย่อย
อย่างนั้นแล้ว ในหน้าร้อนก็ใช่ว่าจะง่ายกว่า แม้ได้เปรียบในแง่ที่ว่า เหงื่อออกก็ดีกว่าหนาวจนมือหลุด แต่การต้องใส่รองเท้าหนา สวมหมวกนิรภัย สะพายกระเป๋า ส่องไฟฉาย กางสายตลับเมตร เปิดเลเซอร์วัดความสูง ถ่ายรูปแล้วจดให้ดีว่าห้องไหน อยู่ชั้นอะไร ฝั่งใดของตึก มันไม่สนุกเลยจริงๆ
อุปกรณ์พื้นฐาน
สิ่งจำเป็นที่ฉันต้องมีเสมอเมื่อไปไซต์งานก่อสร้าง คือ
- ปากกาลูกลื่นแบบกดสปริง สัก 2-3 แท่ง และต้องเช็คด้วยว่าเขียนติดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นปากกาที่ไม่สำคัญอะไร เผื่อว่าหาย หรือลืมทิ้งไว้ที่หน้างาน
- มาร์กเกอร์ 1 หรือ 2 สี สำหรับเน้นจุดสำคัญ
- กระดานรองเขียนขนาด A4 แบบมีตัวหนีบไว้จด เขียน ขีด โดยง่าย
- ไฟฉายแบบห้อย หรือแบบเกี่ยวกับเสื้อ
- ไม้บรรทัดแบบพับได้
- ลิปมัน
- เจลล้างมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ
- กระดาษทิชชู่
- น้ำดื่ม
- ลูกอม
นอกจากอุปกรณ์สำหรับทำงาน การแต่งกายที่ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นในการออกหน้างาน เกือบทุกไซต์ก่อสร้างจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่แต่งกายไม่เหมาะสมเข้าภายในเด็ดขาด โดยมี 3 สิ่งหลัก คือ
- เสื้อกั๊กสะท้อนแสง (Warnweste) ที่หน้างานมักจะมีสำรองไว้ให้
- หมวกนิรภัย (Helm) เตรียมไปเองจะดีที่สุด
- รองเท้านิรภัย (Sicherheitsschuhe) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการไปไซต์
ถึงจะไม่ชอบการไปไซต์ก่อสร้างสักเพียงไหน แต่ปีที่ผ่านมามีธุระต้องไปหลายรอบ ในที่สุด ฉันก็ตัดสินใจซื้อรองเท้าสำหรับไปหน้างานก่อสร้างที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของเยอรมนีเป็นของตัวเอง รองเท้าที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่รองเท้าพื้นหนาๆ เท่านั้น แต่มาตรฐานของเยอรมันนั้นมีถึง 7 แบบ โดยมีการ “ป้องกัน” ที่ต่างกันไป ซึ่งสำหรับทีมของพวกเรานนั้นใช้ระดับ 3 หรือ S3 นั่นคือ
- กันกระแทก
- กันน้ำ
- กันน้ำมัน และ
- ป้องกันการเจาะทะลุจากตะปูและของมีคม
การไปไซต์ก่อสร้าง เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของงานสถาปนิก โดยเฉพาะในเบอร์ลินที่มีการก่อสร้างอาคาร บ้านพักอยู่ตลอดเวลา การไปตรวจสอบการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการแบบก่อสร้าง หรือ Ausfürhungsplanung นั่นก็คืองานเฟสที่ 5 ของการทำงานของสถาปนิกและวิศวกรในประเทศดังต่อนี้
- เยอรมนี, ออสเตรีย และลักเซมเบิร์ก เรียกว่า Leistungsphasen มี 9 ขั้นตอน
- สวิสเซอร์แลนด์ คือ Planungsphasen nach SIA มี 6 ขั้นตอน
การได้ไปทำงาน เรียนรู้การทำงานที่ไซต์ก่อสร้างในระดับมืออาชีพกับชาวเยอรมัน และชาติอื่นๆ จึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ และช่วยให้เห็นภาพรวมของงานสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังเป็น “ข้อได้เปรียบ” ของประสบการณ์การทำงานด้านการออกแบบ – ก่อสร้างในเบอร์ลิน เยอรมนี ซึ่งแม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานตำแหน่งสถาปนิก ที่ฉันไม่ชอบเลย ก็ตามที.