ฉันทำงานในตำแหน่งสถาปนิกในเบอร์ลิน เยอรมนี ตั้งแต่ปี 2013 แล้ว
ตอนที่ย้ายมาเบอร์ลินในปลายปี 2012 ชีวิตปีแรกๆ ในเยอรมนีของฉันก็เปลี่ยนจากเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนอย่างทันที เพราะอย่างแรก สิ่งเดียวที่ฉันตั้งใจและต้องทำให้ได้ คือ มีงานทำ เพราะจะได้มีเงิน และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือการต่อวีซ่าสำหรับอยู่ในเยอรมนีอย่างถูกต้อง ฉะนั้นทุกวัน ทุกเดือนจึงเป็นการทุ่มเวลาให้กับการสมัครงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งแหล่งออนไลน์ที่ฉันใช้เพื่อหางานในเยอรมนี มีดังนี้:
เว็บไซต์ที่น่าสนใจสำหรับงานสถาปนิกในเยอรมนี
indeed
น่าจะเป็นเว็บไซต์ที่หลายคนรู้จักกันอยู่แล้ว ข้อดี คือมีหลายอาชีพ เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ และสามารถสมัคร mailing list เพื่อรับข้อมูลการหางานตามประเภทที่เราเลือกได้ เว็บไซต์ที่ใกล้เคียงกันคือ jobninja (หรือ jooble ในชื่อเดิม) และ stepstone
world-architects.com
ข้อดี คือสามารถเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษได้ และมีประกาศของหลายประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย เช่น ประเทศจีน และ สหรัฐอเมริกา
baunetz และ competitiononline.com
เป็นเว็บไซต์ภาษาเยอรมัน ที่น่าจะเป็นแหล่งหางานที่ตรงกับตลาดงานสถาปัตยกรรมในเยอรมนีที่สุด เว็บไซต์ทั้งหมดที่ยกมาจะมีโฆษณาสมัครงานคล้ายกัน แต่ 2 เพจนี้ เป็นเว็บที่ฉันชอบที่สุด เพราะใช้งานง่าย ได้ข้อมูลครบถ้วน
นอกจากการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ยังสามารถเข้าไปดูในเพจของบริษัทที่เราสนใจโดยตรง ว่าทางสำนักงานกำลังรับพนักงานเพิ่มหรือไม่
สถาปนิกในเยอรมนี และข้อมูลที่ควรรู้
จากประสบการณ์การหางาน และทำงานในเบอร์ลิน สำหรับคนต่างชาติที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบเยอรมันเท่าไหร่นัก ฉันคิดว่า ก่อนจะลงมือส่งใบสมัครนั้นมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ควรเตรียมตัวไว้บ้าง เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการทำงานในเยอรมนี รวมทั้งกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน ดังนี้:
ภาษา
ควรมีความรู้อย่างน้อยในระดับ B2 โดยเฉพาะการพูดและฟัง การอ่านก็สำคัญเช่นกัน และหากมีความรับผิดชอบที่ต้องติดต่อกับคนนอกแผนก ประสานงานกับบริษัทอื่นแล้ว การเขียน ย่อมเป็นทักษะจำเป็น
ระบบการทำงาน
ลำดับการทำงานของสถาปนิกและวิศวกรในประเทศเยอรมนี, ออสเตรีย และลักเซมเบิร์ก ที่มีทั้งหมด 9 เฟส หรือ Leistungsphasen ฉันเองมีประสบการณ์ระหว่างเฟส 1-5 และขออธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เฟส 1 คือการรับโปรแกรมจากผู้ว่าจ้างและร่างสัญญางาน
- เฟส 2-3 เป็นกลุ่มดีไซน์ หรือพัฒนาแบบ
- เฟส 4 คือการทำแบบขออนุญาต
- เฟส 5 ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในตลาดทำงานเบอร์ลิน คือขั้นตอนการแบบก่อสร้าง
เมื่อมีความเข้าใจใน Leistungsphasen หรือ LP แล้ว ก็จะทำให้มองภาพชัดขึ้นว่านายจ้าง หาคนไปทำงานแบบไหน หรือว่า ตัวเราเองมองหาประเภทงานแบบใด
โปรแกรมเขียนแบบ และ BIM
โปรแกรมสำหรับทำกราฟฟิก เช่น Lumion , SketchUP, VRay หรือ Adobe มักจะใช้ในการทำงานเฟส 2-3 ที่เป็นช่วงพัฒนาแบบ และการทำประกวดแบบมากกว่า
โปรแกรมเขียนแบบของที่นี่ส่วนใหญ่แล้วใช้ ArchiCAD นอกเหนือจากนั้นแล้วก็มี AutoCAD, Vectorworks, Allplan และ Revit
ปัจจุบันนี้ หลายบริษัทเริ่มมีการหาคนที่มีความเข้าใจเรื่อง BIM หรือ Building Information Modeling อยู่พอสมควร ดังนั้นหากสามารถเขียน ArchiCAD และ Revit ได้อยู่แล้ว การมีความเข้าใจใน BIM ทั้งงาน 2D และ 3D แล้วสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วก็ถือเป็นจุดเด่นเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งข้อ
ทั้ง 3 หัวข้อนี้ เป็นสิ่งที่ฉันได้เจอ ได้แก้ปัญหาและต้องปรับตัวมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกที่สมัครงานจนถึงวันนี้-วันที่มีงานทำสมใจแล้ว ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยรู้และเตรียมตัวมาก่อน ทั้งเรื่องภาษา ที่ฉันคิดเสมอว่าการอยู่ในเบอร์ลินโดยปราศจากภาษาเยอรมันนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฉันไม่รู้จักเฟสการทำงาน ฉันใช้โปรแกรม ArchiCAD ไม่เป็น ซึ่งการ “ไม่รู้” ทั้งหมดนี้ ทำให้โอกาสการได้งานน้อยลงไปมากๆ ล้มลุกคลุกคลานคลำทางอยู่เกือบหลายปีกว่าจะเริ่มเข้าใจว่า การทำงานในตำแหน่งสถาปนิก หรือในอุตสาหกรรมออกแบบ-ก่อสร้าง ในเยอรมนีนั้นเป็นอย่างไร เราทำอะไรได้บ้าง เราอยากอยู่ตรงไหน เราอยู่ที่ใดได้บ้าง
สถาปนิกในเบอร์ลิน
ตอนนี้ ฉันทำงานในเฟส 5 หรือ Ausführungsplanung ซึ่งก็คือการทำแบบก่อสร้างมาติดต่อกัน 4 ปีแล้ว นอกจากเตรียมแบบ ประสานงานในบริษัทแล้ว ยังมีโอกาสได้ไปดูไซต์ก่อสร้าง (Baustelle) อยู่บ้าง โปรเจกต์ที่มีส่วนร่วมนั้นมีทั้งอาคารที่พักอาศัย (Wohnungsbau) และอาคารสาธารณะ (öffentliche Bauvorhaben) เป็นการสร้างใหม่ (Neubau) และส่วนต่อเติมรวมทั้งงานปรับปรุง (Umbau) อีกด้วย
3 thoughts on “Job hunt : สมัครงานสถาปนิกในเยอรมนี”