เยอรมนี : ค่าแรงขั้นต่ำ เงินประกันสังคม ตลอดจนเงินสำหรับเกษียณอายุที่ต้องจ่ายทุกเดือนมีอะไรบ้าง ที่สำคัญ จะเพียงพอหรือไม่ กับการใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ ?
สิ่งที่ต้องจ่ายออกจากรายได้
เยอรมนี ค่าแรงขั้นต่ำ
ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2022 เป็นต้นมา ค่าแรงขั้นต่ำ (Mindestlohn หรือ minimum wage) ในเยอรมนีอยู่ที่ ชั่วโมงละ 12 ยูโร หรือ ประมาณ 400 บาท และจะปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 12,41 ยูโร (ราว 450 บาท) ในเดือนมกราคม ปี 2024
ภาษี และ ประกันสังคม
ตัวเลขที่น่าสนใจว่าแท้จริงแล้ว เงินที่เหลือสำหรับใช้จ่ายว่าเหลือเท่าไหร่ คือ รายได้หลังหักภาษี หรือที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า Netto ซึ่งจำนวนเงินที่ถูกหักออกไปก็คือ ภาษีและประกันสังคมประเภทต่างๆ โดยจะแสดงอยู่ในใบสลิปเงินเดือน (Lohnabrechnung หรือ Payslip)
สิ่งที่ถูกจ่ายออกไปจากเงินเดือนเหล่านั้น ได้แก่ :
- ภาษีเงินได้ : Lohnsteuer (LSt) : income tax
อัตราการเสียภาษีอยู่ระหว่าง 14-45% ขึ้นอยู่กับเงินเดือนและหมายเลขภาษี (Steuerklasse) ตามสถานภาพ (โสด/ สมรส/ หม้าย/ หย่า เป็นต้น)
- ประกันสุขภาพ : Krankenversicherung (GKV): health insurance
จำนวนที่จ่าย 14,6%
- ประกันบำนาญ / ประกันชีวิตแบบบำนาญ : Rentenversicherung (DRV) : pension insurance
จำนวนที่จ่าย 18,6% แต่เงินที่ได้รับจริงหลังเกษียณงานนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลา จำนวนเงินที่จ่าย และอาชีพ
- ประกันการว่างงาน Arbeitslosenversicherung (ALV): unemployment insurance
จำนวนที่จ่าย 2,6%
- ประกันสำหรับดูแลวัยชรา Pflegeversicherung (PV) : long-term care insurance
จำนวนที่จ่าย 3,4%
เยอรมนี กับสิ่งอื่นๆ ที่อาจต้องจ่าย
- ภาษีโบสถ์ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ Kirchensteuer (KiSt): church tax
จำนวนที่จ่าย 8-9% แล้วแต่รัฐ
- ภาษีรวมประเทศ Solidaritätszuschlag (SolZ บางทีก็เรียกติดปากว่า Soli) : solidarity surcharge
สำหรับผู้ที่อาศัยในเยอรมนีตะวันตก และบริษัทที่จดทะเบียนในเบอร์ลินตะวันตก มีจำนวนที่จ่าย 5,5%
เยอรมนี และประเภทของการทำงาน
ประเภทการทำงานในเยอรมนี มีหลายแบบ แตกต่างตามรายได้ ชั่วโมงทำงาน รวมทั้งอัตราภาษีและการจ่ายประกันสังคม
งานเต็มเวลา – Vollzeit หรือ full time job
ชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 36 – 40 ชั่วโมง/ สัปดาห์ หรือ 7 – 8 ชั่วโมง/ วันตามแต่ตกลง ที่มีการจ่ายและได้รับสวัสดิการจากรัฐตามกฏหมาย ได้แก่:
- ประกันสุขภาพ (GKV)
- เงินบำนาญ (DRV)
- ประกันยามว่างงาน (ALV) และ
- เงินดูแลวัยชรา (PV)
ทั้งนี้ จะมีภาษีโบสถ์หากนับถือศาสนาคริสต์ (KiSt) และถ้าบริษัทตั้งอยู่ในเขตตะวันตก ก็ต้องจ่ายภาษีรวมประเทศด้วย (SolZ)
งานพาร์ทไทม์ – Teilzeit หรือ part time job
เป็นงานที่มีรายละเอียดเดียวกันกับงานเต็มเวลา แต่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมง/ สัปดาห์ โดยทั่วไปแล้วอยู่ที่ระหว่าง 15 – 30 ชั่วโมง/ สัปดาห์ หรือ 35 หรือ 37 ชั่วโมง หรือแล้วแต่ตกลงกับบริษัท หากทำงานพาร์ทไทม์ 24 ชั่วโมง/ สัปดาห์ สามารถเลือกทำงานอาทิตย์ละ 4 วันก็ได้เช่นกัน
พนักงานที่ทำงานพาร์ทไทม์เช่นนี้ มักเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการทำงานและดูแลลูกไปด้วย
* งานเล็กๆ งานรายได้พิเศษ – Minijob
* จากข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022 เป็นต้นไป
เป็นการทำงานที่มีรายได้ไม่เกิน 520 ยูโร/ เดือน (เกือบๆ 20,000 บาท) หรือ 6,240 ยูโร/ ปี (ราว 230,000 บาท) โดยจำกัดเวลาทำงานอยู่ที่ราว 43 ชั่วโมง/ เดือน Minijob นอกจากเป็นประเภทงานที่มีรายได้จำกัดแล้ว ยังหมายถึงการรับงานสั้นๆ เป็นจ๊อบๆ ไป เช่น ทำงาน 3 อาทิตย์ รับงานแค่ 1 เดือน โดยไม่เกิน 3 เดือน หรือ 70 วัน/ ปี
ระบบการทำงานประเภทนี้ เป็นงานที่ไม่ต้องจ่ายประกันยามว่างงาน (ALV) และ เงินดูแลวัยชรา (PV) แต่หากต้องการจ่ายเงินบำนาญ (DRV) ก็สามารถแจ้งและตกลงกับนายจ้างตอนทำสัญญางานได้
ดูเหมือนว่า Minijob ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ (LSt) แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทได้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 2% ไปก่อนแล้ว หากไม่มีประกันสุขภาพ สามารถใช้ร่วมกับคู่ครองหรือพ่อแม่ก็ได้ หรือในบางราย ทางนายจ้างจะช่วยจ่ายประกันสุขภาพให้ลูกจ้างด้วย
ฟังๆ ดูอาจเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะหากแบ่งเวลาได้เหมาะสมเราสามารถทำ Minijob กี่งานก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าประกันสังคมจำนวนมากเหมือนทำงานประจำ แต่อย่างนั้นแล้ว เมื่อใดที่มีรายได้จาก “งานหลายๆ จ๊อบ” รวมกันแล้วเกิน 10,908 ยูโร/ ต่อปี (ข้อมูลปี 2023) จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ทันที
* งานเล็ก งานเสริม – Midijob
* จากข้อมูลล่าสุด ประจำเดือนมกราคม ปี 2023 เป็นต้นไป
คล้ายๆ กับงาน Minijob แต่เป็นประเภทงานที่มีรายได้ก่อนหักภาษีและประกันสังคมระหว่าง 520,01 – 2,000 ยูโร/ เดือน (ราว 20,000 – 74,000 บาท) ซึ่งต้องจ่าย:
- ประกันสุขภาพ (GKV)
- ประกันบำนาญ (DRV)
- ประกันการว่างงาน (ALV) และ
- ประกันสำหรับดูแลวัยชรา (PV)
โดยจ่ายเป็นจำนวนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของการทำงานเต็มเวลา การทำงานแบบ Midijob จึงมีข้อดีกว่า Minijob ตรงที่ว่าได้รับการครอบคลุมจากสิทธิ์ประกันสังคมที่จ่ายรายเดือน ส่วนอัตราภาษีเงินได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าลูกจ้าง (และคู่ครอง – หากมี) มีภาษีเบอร์ไหน
เยอรมนี ค่าแรงขั้นต่ำ ภาษี ประกันสังคม และเงินเกษียณ
- เดนมาร์ก
- เนเธอร์แลนด์ และ
- สวีเดน
เป็นสามประเทศแรกที่มีระบบเกษียณดีที่สุดประจำปี 2023 ตามการจัดลำดับข้อมูลจากเว็บไซต์ Allianz ส่วนเยอรมนีนั้นน่ะอยู่ที่อันดับที่ 15
ปัจจุบัน อายุเกษียณงาน ของเยอรมนีอยู่ที่ 67 ปี และ 63 ปีคือวัยเกษียณก่อนอายุ หากทำงานเต็มเวลา (Vollzeit) โดยจ่ายเงินประกันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาติดต่อกัน 45 ปีก็จะได้รับเงินประกันบำนาญราว 60-80% จากที่เสียไปเท่านั้น ส่วนประเภทงานอื่นๆ อย่าง งานพาร์ทไทม์ (Teilzeit) หรือ Midijob ย่อมมีเงินยามเกษียณต่างกันไปแล้วแต่อัตราที่จ่ายให้รัฐ
อย่างนั้นแล้ว สังเกตได้ว่า เยอรมนีมีอัตราส่วนของการจ่ายเงินประกันช่วยเหลือยามตกงาน (ALV) กับการดูแลวัยชรา (PV) นั้นค่อนข้างต่ำ และน้อยกว่าเงินประกันสุขภาพ (GKV) มากนัก ในขณะที่ตัวเลขเงินเกษียณนั้น (DRV) มีมากเป็นอันดับหนึ่ง (18,6%)
- เว็บไซต์ Allianz และ Merkur กล่าวไว้ว่า “ควรจะ” มีเงินสำหรับใช้รายเดือนในวัยเกษียณราว 80% ของเงินเดือนหลังหักภาษีและประกันต่างๆ (Netto) ล่าสุด
- เว็บไซต์ Berlin Morgenpost แสดงความเห็นว่า มีชาวเยอรมันหลายคนที่กังวลว่า เงินเกษียณยามชราของตนเองนั้น “แทบจะไม่พอใช้”
เยอรมนี ค่าแรงขั้นต่ำ ประกันสังคม เงินเกษียณ : มุมมองของผู้เขียน
ถ้าไม่มีรายได้สูง และมีรายได้ทางเดียว ไม่มีเงินออม หรือการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม การหวังจะพึ่งพา “เงินเกษียณ” เพียงอย่างเดียวนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตยามแก่ค่อนข้างลำบากในเยอรมนี ดังนั้น จึงมีชาวเยอรมันสูงวัยจำนวนไม่น้อย ที่จะหลบไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ประเทศอื่นๆ ที่มีค่าครองชีพไม่มากนัก เช่น สเปน โปรตุเกส รวมทั้ง ประเทศไทย
ปัจจุบันนี้ ฉันเป็นพนักงานบริษัทที่ทำงานเต็มเวลา (40 ชั่วโมง/ สัปดาห์) จ่ายภาษีเงินได้ (LSt) ในระดับกลางๆ ไม่ได้จ่ายภาษีโบสถ์ (KiSt) และภาษีรวมประเทศ (SolZ)
ฉันเริ่มทำงานในเบอร์ลินได้ไม่นานนัก รวมทั้งเงินเดือนเริ่มต้นที่ไม่ได้สูงมาก ดังนั้นการเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่มีการวางแผนทางการเงินที่เข้มแข็งพอก็ทำให้มีความกังวล ทั้งเป็นห่วงว่าหากจะอยู่ที่นี่ ที่เยอรมนีจนจากโลกนี้ไป ควรจะทำอย่างไรดีกับชีวิตบั้นปลาย ช่วงท้ายของชีวิตไม่ให้ยากลำบากจนเกินไปนัก.
หมายเหตุ
เงินบาท เทียบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ยูโร เท่ากับ 37 บาท
เว็บไซต์อ้างอิง
- https://www.dgb.de/schwerpunkt/mindestlohn
- https://www.arbeitsrechte.de/teilzeit-stunden/
- https://www.dgb.de/schwerpunkt/minijob
- https://www.worldwide-tax.com/germany/germany-taxes.asp
- https://www.iamexpat.de/expat-info/taxation-germany/german-tax-system
- https://www.bundesregierung.de/breg-de/leichte-sprache/midijob-grenze-steigt-2168072